หลักการและเหตุผล
1. ชาวประมงพื้นบ้าน มีทั้งที่ใช้เรือและไม่ใช้เรือหากินตามแนวชายฝั่งทะเล หากใช้เรือก็จะเป็นเรือหางยาวหรือเรือกอและ เรือท้ายตัด ทั้งที่ไม่มีเครื่องยนต์จนถึงมีเครื่องยนต์ขนาด 1 - 7 แรงม้า และใช้เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนสามารถเลือกจับสัตว์น้ำได้เฉพาะชนิด เช่น อวนลอยปลา อวนลอยกุ้ง อวนจมปู แห เบ็ด ลอบ ไซ ฯลฯ ชาวประมงพื้นบ้านจึงจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1.1 ชาวประมงที่ไม่มีเรือและเครื่องยนต์ ชาวประมงประเภทนี้จะใช้ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่และใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ หากินอยู่ตามริมทะเลหรือริมฝั่งคลอง
1.2 ชาวประมงที่มีเรือแต่ไม่มีเครื่องยนต์ จะหากินอยู่ตามแนวป่าชายเลน ใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ เช่นใช้แร้วจับปู
1.3 ชาวประมงที่มีเรือและเครื่องยนต์ มีขนาดความยาวเรือไม่เกิน 10 เมตร เครื่องยนต์ที่ใช้มีกำลังไม่เกิน 30 แรงม้าหากินห่างจากฝั่งไม่เกิน 7 กิโลเมตร เรือที่ใช้จะมีความแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่
จากการสำรวจสำมะโนประมงทะเลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมประมง เมื่อปี 2528 มีครัวเรือนที่ทำการประมงขนาดเล็กร้อยละ 74.5 ของครัวเรือนประมงทั้งหมด หรือประมาณ 246,271 คน จากจำนวนสมาชิกในครัวเรือนประมงทั้งประเทศที่มีอยู่ 330,378 คน มีจำนวนเรือทั้งที่มีเครื่องยนต์นอกเรือ และไม่มีเครื่องยนต์ 36,445 ลำ หรือร้อยละ 68 ของจำนวนเรือประมงทั้งหมดในประเทศไทยที่มีอยู่ 53,427 ลำ และจากการสำรวจสำมะโนประมงทะเลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมประมง เมื่อปี 2538 มีครัวเรือนที่ทำการประมงขนาดเล็กร้อยละ 89.7 ของครัวเรือนประมงทั้งหมด หรือประมาณ 480,000 คน จากจำนวนสมาชิกในครัวเรือนประมงทั้งประเทศที่มีอยู่ 535,210 คน มีจำนวนเรือทั้งที่มีเรือยนต์นอกเรือ (เรือหางยาว เรือท้ายตัด) และไม่มีเครื่องยนต์ 35,256 ลำ
การทำประมงพื้นบ้านนั้น ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักและเป็นการประมง เพื่อยังชีพ ซึ่งจะแตกต่างจากการประมงพาณิชย์ที่ทำการประมงเพื่อแสวงหากำไร การทำประมงพื้นบ้านจะมีความสอดคล้องกับหลักการผลิตของเศรษฐกิจชาวนา ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การใช้แรงงาน เป็นเศรษฐกิจครอบครัวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ประกันการบริโภค ไม่ใช่กำไร จึงอยู่ภายใต้กฎเศรษฐกิจที่ต่างจากทุนนิยม แต่ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีประมาณร้อยละ 80 ของประชากรประมงทะเลทั้งหมดของประเทศไทย เป็นผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างอยากไร้ ขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปัญหาใหญ่ก็เนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลลดลงไป
ในพื้นที่ภาคใต้จากการศึกษา เมื่อปี 2525 พบว่าชาวประมงที่ทำการประมงชายฝั่งขนาดเล็กมีจำนวนร้อยละ 63.6 ของครัวเรือนผู้ประกอบอาชีพทำการประมงทั้งหมด อีกร้อยละ 20.7 เป็นกลุ่มลูกจ้างที่ทำการประมงทั้ง 2 กลุ่มมีส่วนสัมพันธ์กับสภาพความยากจนสูงมาก กลุ่มผู้ทำการประมงขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนชาวประมงมากที่สุดแต่สามารถจับสัตว์น้ำได้น้อยที่สุด เพียงประมาณร้อยละ 12 เท่านั้น สัตว์น้ำอีกร้อยละ88 นั้น เป็นสัตว์น้ำที่กลุ่มผู้ทำการประมงขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนเพียง 15.7 จับได้ ชาวประมงขนาดเล็กซึ่งมีรายได้เพียงร้อยละ 12 จากผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมด มีรายได้ไม่พอเพียงต่อการบริโภคภายในครัวเรือน และนับวันจะต้องประสบกับสภาพ ความยากจนแร้นแค้นมากขึ้น และในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งสงขลา ปัตตานีและนราธิวาส ก็จับปลาได้น้อยลงเป็นอันมาก สาเหตุสำคัญก็คือ การที่มีเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ซึ่งกวาดจับปลาไปเสียสิ้น และเป็นการรุกล้ำที่เข้ามาทำการประมง อย่างผิดกฎหมายของเรืออวนรุน อวนลาก
2. อ่าวปัตตานี และปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ในกรณีของจังหวัดปัตตานีซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนทางภาคใต้ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกของภาคใต้ติดกับอ่าวไทยมีพื้นที่ 1,940,356 ตารางกิโลเมตร มีประชากรจำนวน 598,117 คน ( ณ วันที่ 31 ธ้นวาคม 2541 ) มีความยาวชายฝั่ง 116 กิโลเมตร เป็นความยาวชายฝั่งทะเล 116 กิโลเมตร เป็นความยาวชายฝั่งทะเลด้านนอก 85 กิโลเมตร ในอ่าวปัตตานี 31 กิโลเมตร จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 2 ของภาคใต้รองจากจังหวัดภูเก็ต ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ทำนาและทำการประมง
จังหวัดปัตตานีมีทรัพยากรชายฝั่งที่สำคัญคือ อ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นเขตน้ำกร่อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง ของประเทศไทยและของเอเชีย อ่าวปัตตานีมีพื้นผิวน้ำ 74 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่บนฝั่งรอบอ่าวประมาณ 70,000 ไร่ แม่น้ำที่นำน้ำจืดไหลลงสู่อ่าวคือ แม่น้ำปัตตานี
และแม่น้ำยะหริ่งได้นำเอาธาตุอาหารไหลลงสู่อ่าวเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชและสัตว์ในอ่าวปัตตานีและ ป่าชายเลนในเขตอำเภอยะหริ่งยังได้ชื่อว่าเป็นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง บนฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยอ่าวปัตตานีเป็นบริเวณที่บทบาทของกระแสน้ำขึ้น กระแสน้ำลง คลื่น ตลอดจนการทับถมของตะกอน แร่ธาตุและสัตว์หน้าดินต่างๆ เช่น หอย สาหร่ายทะเล ทำให้อ่าวปัตตานีมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
อ่าวปัตตานีมีอัตราการผลิตทางชีวภาพสูงกว่าอ่าวไทยในเชิงเปรียบเทียบสูงกว่าอ่าวที่เม็กซิโก อินเดีย และแอฟริกา ในอ่าวปัตตานีจะมีหอยธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก มีกุ้ง ปู ปลา ที่อุดมสมบูรณ์ และให้ผลผลิตสูง
การจับปลาที่ปัตตานี มีปริมาณการจับสูง เพราะมีอ่าวปัตตานีเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำตัวอ่อนก่อนที่จะออกสู่ทะเลนอก อ่าวปัตตานีเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เพราะจะมีความสัมพันธ์กับการจับปลา การทำประมงในทะเลนอก คล้ายๆ กับ Wadden Sea บริเวณชายฝั่งของประเทศ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และเดนมาร์ค ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัมพันธ์กับการทำประมงในทะเลเหนือ อ่าวปัตตานีเดิมที่สามารถรักษาสภาพธรรมชาติ พันธุ์สัตว์น้ำและคุณภาพน้ำไว้อย่างสมบูรณ์ มีลักษณะของการทำประมงที่ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุดแห่งหนึ่งอ่าวปัตตานีจึงเป็นแหล่งอาหารแหล่งอาชีพ ที่เป็นรายได้หลักให้กับชุมชนชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานีในเขตอำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง และอำเภอหนองจิก
ในปัจจุบันระบบนิเวศน์และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีได้ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมลง อย่างรวดเร็วและอยู่ในภาวะวิกฤติ สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ บนฝั่งแม่น้ำและบริเวณปากอ่าวปัตตานี การขยายตัวของพื้นที่นากุ้ง การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน และสาเหตุสำคัญที่สุดเกิดจากการทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์หน้าดินและพื้นที่สาหร่ายโดยเรืออวนรุน อวนลาก ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียแหล่งผลิตอาหารยังชีพ ต้องอพยพทิ้งถิ่นอาศัยไปหางานทำที่มาเลเซีย และประสบปัญหาความยากจนและปัญหาด้านต่างๆ เป็นลูกโซ่ตามมาอย่างมากมาย เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาคนว่างงานโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการศึกษา ฯลฯ จากการศึกษาข้อมูลของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี เมื่อปี 2538 รวม 16 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรประมาณ 23,000 คน พบว่าปัญหาที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อการประกอบอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีคือ ปัญหาอวนรุน อวนลาก ทั้งทะเลใน (ในอ่าวปัตตานี) และทะเลนอก (บริเวณชายฝั่งด้านอ่าวไทย เขตอำเภอหนองจิก อำเภอเมืองปัตตานี และอำเภอยะหริ่ง)
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาประมาณ 15 จับปลาและสัตว์น้ำประเภทต่างๆ ไม่ได้เลยเป็นเวลาหลายวัน รวมทั้งเรืออวนรุน อวนลาก ยังทำลายเครื่องมือประมงพื้นบ้าน โดยการรุนหรือลาก ขาดหรือหายไปด้วย บางครั้งยังชนเรือของชาวบ้าน โดยเฉพาะเรืออวนรุนขนาดใหญ่จะทำลายล้างระบบนิเวศน์และทรัพยากรชายฝั่งอย่างสิ้นเชิง เวลาอวนรุนเข้ามาสัตว์น้ำจะไม่มีเป็นอาทิตย์ๆ ชาวบ้านเคยร่วมมือกันต่อต้าน เคยแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ผล เรืออวนรุน อวนลากมีอิทธิพล ชาวบ้านต้องกู้เงินเถ้าแก่มาซื้อเรือ ซื้อแห ซื้ออวน แล้วจ่ายคืนเป็นรายวันหรือรายเดือน เมื่อสัตว์น้ำไม่มีบางคนก็อยู่เฉยๆ บางคนก็ขายเรือแล้วไปทำงานมาเลเซีย โดยเฉพาะพวกวัยรุ่นชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอชายฝั่งของจังหวัดปัตตานีต้อง ประสบกับปัญหาปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและถูกกดราคา ทำให้มีฐานะยากจรแร้นแค้น นอกจากนี้ในหลายพื้นที่เกษตรกรมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานมาก (การคำนวณ) อาทิเช่น ในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เกษตรกรมีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาท/คน/ปี ในปี 2542 จากประมาณการร้อยละของประชากรที่ยากจน จังหวัดปัตตานีมีประชากรที่ยากจนถึงประมาณร้อยละ 43.33
3. นโยบายรัฐกับการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง และทะเล ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง เป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐได้พยายามแก้ไขปัญหามานาน ด้วยปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำในทะเล และเกิดผลกระทบต่อผลผลิตสัตว์น้ำของประเทศ รัฐได้ออกระเบียบข้อบังคับ และมาตรการควบคุมการทำประมง โดยการควบคุมจำนวนเรือประมงและประเภทของเครื่องมือทำลายล้าง นอกจากนั้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) ส่วนที่ 6 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบทที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้อ 7 เสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยข้อ7.3 สนับสนุนการออกกฎหมายยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายฝั่ง โดยเฉพาะอวนรุน อวนลาก และสนับสนุนการเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ตามแผนปฏิบัติการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ( พ.ศ. 2540 - 2544 ) ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 มีนาคม 2540 ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนายั่งยืน ในส่วนของการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรประมง มาตรกรที่รัฐต้องดำเนินการข้อที่3 ได้กำหนดไว้ว่า "ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันได้แก่ ให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ติดกับพื้นที่ชายฝั่งมีส่วนร่วมในการจัดการดูแล รักษาทรัพยากรชายฝั่งอย่างแท้จริง ให้มีมาตรการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอวนรุน อวนลาก..."
ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องห้ามมิให้ใช้เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ทำการประมงในท้องที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ วันที่ 2 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นมา แต่ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดจากการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย โดยใช้เครื่องมืออวนรุน อวนลากทำการประมงในท้องที่จังหวัดปัตตานี และในปัจจุบันเรืออวนรุนได้มีขนาดใหญ่ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทย และเรือพาณิชย์ส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถออกไปทำการประมงในน่านน้ำต่างประเทศ จึงได้ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมง และเข้ามาทำการประมงอวนรุนในบริเวณชายฝั่งประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ ผู้กระทำความผิดกฎหมายไม่เข็ดหลาบเพราะสามารถร่ำรวยได้อย่างรวดเร็วโดยการทำลายล้าง และกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ
4. ในระดับพื้นที่ ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้าน ตั้งแต่ ปี 2536 ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พยายามดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวประมงพื้นบ้านในรูปแบบต่างๆ เช่น การรณรงค์ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่งโดยการจัดทำปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน (ซั้ง) การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดราษฎรอาสาสมัครร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตำรวจออกเฝ้าระวังและตรวจจับเรืออวนรุน อวนลากที่บุกรุกเข้ามาทำการประมงอย่างผิดกฎหมายในเขตอนุรักษ์ 3,000 เมตร จากชายฝั่ง การเข้าไปมีส่วนร่วมระดมความคิดเห็นและหาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอปัญหาและการประสานงานขอความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน
ด้วยศักยภาพและความตื่นตัวขององค์กรชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี และความสำคัญของระบบนิเวศน์ของอ่าวปัตตานี จึงทำให้ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ได้รวมตัวกันจัดทำโครงการนำร่องการจัดการและฟื้นฟูชายฝั่งจังหวัดปัตตานีขึ้น ด้วยคาดหวังที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศน์อ่าวปัตตานีและอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านให้มีศักยภาพในการหล่อเลี้ยงชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ควบคู่กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน
|