โครงการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการฟื้นฟูชุมชนประมงจังหวัดพังงา
หลักการและเหตุผล
ภายหลังจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย(สึนามิ) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เขตพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งมีอาณาบริเวณติดกับชายฝั่งทะเล รวมถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันของประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความรุนแรงของพลังน้ำจากกลุ่มคลื่น ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก อีกทั้งมีผู้สูญหายที่ยังหาไม่พบอีกจำนวนมากเช่นกัน บ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้อำนวยความสะดวก เรือประมง กระชัง เครื่องมือประกอบอาชีพต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายหรือสูญหายไป จนทำให้ผู้ที่รอดชีวิตเหลืออยู่กลายเป็นคนไม่มีบ้านอยู่อาศัย ไม่มีเครื่องมือประกอบอาชีพ ว่างงาน สุขภาพจิตเสื่อมโทรมและไม่มีเงินทุนเหลือเพียงพอที่จะเริ่มต้นดำรงชีวิตในรูปแบบเดิมได้ ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ดังนั้นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาจึงต้องเป็นไปในรูปแบบบูรณาการที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งรัฐ กลุ่ม/องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ประสบภัย ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประสบภัยมีส่วนร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อว่าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะได้ดำเนินไปอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับวิถีชีวิตภายในแต่ละชุมชนเอง
โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯที่ต้องการเน้นให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาและ ฟื้นฟูชุมชนเป็นไปอย่างตรงเป้าหมายและเกิดรูปธรรมที่ชัดเจน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายหรือแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ กลุ่ม/องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ประสบภัย แต่เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่ประสบเหตุธรณีพิบัติภัยและการที่จะดำเนินการให้สำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯได้ จึงได้ทำการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน คือ กลุ่มประมงพื้นบ้าน(แหลมสน แหลมป้อม มอร์แกลน) กลุ่มเรือประมง กลุ่มประมงขนาดกลางบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่นำร่องในเบื้องต้น โดยมอบอุปกรณ์การประมงและเครื่องมือเทคโนโลยีประกอบการประมงให้เป็นสิทธิของกลุ่ม ในการบริหารจัดการให้บริการแก่สมาชิกของแต่ละกลุ่มหรือเครือข่าย ตามวิธีการดำเนินงานข้อที่ 2
1. เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ชุมชนบ้านน้ำเค็ม ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1,600 ครัวเรือน ซึ่งจัดว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่มีทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิมซึ่งอพยพโยกย้ายมาจากหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่อื่นในจังหวัดพังงา และกลุ่มชนพื้นเมืองเดิม คือ ชาวไทยใหม่ จำนวนกว่า 4,500 คน นอกจากนี้ยังมีแรงงานพม่าและครอบครัว อีกจำนวนกว่า 500 คน ซึ่งมาทำงานรับจ้างเป็นลูกเรือประมงในกิจการเรือประมงขนาดกลางและขนาดใหญ่
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย(สึนามิ)ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง ทั้งประมงพื้นบ้านจำนวน 420 ลำ เรือประมงขนาดกลางจำนวน 79 ลำ ซึ่งผลกระทบโดยส่วนใหญ่จะเนื่องมาจากเรือประมง อุปกรณ์ และเครื่องมือพังเสียหาย ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ถึงแม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเป็นการเบื้องต้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมเรือ ซื้ออุปกรณ์ และซื้อเครื่องมือประมงที่ชำรุดหรือสูญหายไป โดยเฉพาะกลุ่มประมงขนาดกลางซึ่งประกอบอาชีพประมงโดยใช้อวนดำขนาดตาอวน 2 นิ้วครึ่งขึ้นไปเป็นเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำ จึงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุปกรณ์เทคโนโลยีด้านประมงเพื่อช่วยในการจับปลา ได้แก่ โซนาร์ ซาวเดอร์ ดาวเทียม วิทยุ จะเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงและต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ เมื่อเกิดการชำรุดสูญหายจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยากลำบากสำหรับการหาเงินทุนมาเพื่อซ่อมแซมเรือ จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือประมงชุดใหม่ในเวลาพร้อม ๆ กัน เพราะกลุ่มประมงขนาดกลางเหล่านี้ ยังได้รับความเสียหายด้านบ้านเรือนและแพปลาที่พังเสียหาย ประกอบกับหนี้สินที่มีอยู่เดิมด้วยเช่นกัน ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงสัมพันธ์โยงใยไปทั้งชุมชน เช่น กลุ่มแพปลาจำนวน 14 ราย กลุ่มเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังจำนวน 72 ราย โรงกลึง โรงงานปลาป่น ร้านค้า พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างทั้งแรงงานไทย พม่า และอีกหลากหลายอาชีพด้วยกันทั้งสิ้น
ดังนั้นชุมชนบ้านน้ำเค็มจึงได้รวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในชุมชนเอง ซึ่งมี ทั้งหมดจำนวน 23 กลุ่มองค์กร ในระยะเบื้องต้นคณะกรรมการจากกลุ่มต่าง ๆ ได้มีมติร่วมกันในการจัดตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาเพื่อประสานงานและบริหารจัดการโดยมีหัวหน้า จากแต่ละกลุ่มเข้ามาเป็นกรรมการกลาง
2. เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
อำเภอเกาะยาวมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ 2 เกาะ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของ จังหวัดภูเก็ตและอยู่ในเขตอ่าวพังงา แบ่งเขตการปกครองออกเป็นตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ และตำบลพรุใน และจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะอยู่กลางอ่าวพังงา จึงทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น ป่าชายเลน ป่าชายหาด หาดทราย และทัศนียภาพล้อมรอบที่สวยงาม จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศเดินทางไปท่องเที่ยวเกือบตลอดทั้งปี
ประชากรโดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก มีการทำนาปลูกข้าวไว้บริโภคกันเองภายในชุมชน และเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม นอกจากนี้ยังได้รวมกลุ่มกันจัดทำกลุ่มออมทรัพย์แต่ละชุมชน เพื่อระดมทุนเงินออม ไว้ช่วยเหลือสมาชิกให้สามารถประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านได้อย่างยั่งยืน และมีจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย(สึนามิ)ที่ผ่านมาความเสียหายที่เกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นคนในพื้นที่อำเภอเกาะยาวแต่ไปทำงานประกอบอาชีพอยู่ที่เกาะพีพีจำนวน 33 ราย เรือประมงพื้นบ้านจำนวน 120 ลำ เรือประมงขนาดกลางจำนวน 8 ลำ แพปลาจำนวน 4 แพ กลุ่มเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังจำนวน 128 รายเครื่องยนต์เรือและอุปกรณ์ประมงจำนวน 78 ราย การให้ความช่วยเหลือที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ได้แก่ การสร้างบ้านเรือนอาศัย การซ่อมแซมเรือ และให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพียงส่วนน้อย ในขณะที่กลุ่มประมงพื้นบ้านอีกหลายครัวเรือนยังไม่สามารถกลับไปดำเนินการ ประกอบอาชีพได้ดังเดิม เนื่องจากไม่มีเรือ เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ประมง ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตของตนเอง
ดังนั้นเครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเกาะยาวจึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนภายในชุมชนเอง ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 3 กลุ่มองค์กร คือ ชมรมประมงพื้นบ้านตำบลเกาะยาวน้อย เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะยาวใหญ่ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านตำบลพรุใน โดยเครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเกาะยาวเป็นแกนกลางในการประสานงานและ บริหารงานโดยมีตัวแทนจากชมรมและเครือข่ายระดับตำบลเข้ามาเป็นกรรมการระดับอำเภอ และมีบทบาทหน้าที่คือ
- กำหนดระเบียบกฎกติกาการทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ
- ประสานงานหาแหล่งสนับสนุนด้านความรู้วิชาการ ประสบการณ์ ตลอดจนงบประมาณสนับสนุน
- เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพัฒนาและสนับสนุนของสมาชิกเครือข่าย
|