homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 

โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์และชุมชนประมงพื้นบ้าน (ตำบลเกาะพระทอง ตำบลคุระ  
ตำบลเกาะคอเขา ตำบลบางม่วง ตำบลคึกคัก ตำบลนาเตย ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา
)

หลักการและเหตุผล

จากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.– 11.00 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้ทำให้ชุมชนบริเวณต่าง  ๆ ในเขตพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนราษฎร เรือและเครื่องมือประมงได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งบนบกและในทะเลได้รับผลกระทบ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงทั้งเหตุการณ์เฉพาะหน้าและในระยะยาว

พื้นที่ตำบลเกาะพระทอง ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี และตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีสภาพภูมิประเทศที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะต่าง ๆ หลายเกาะ และประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเกาะซึ่งได้แก่ เกาะพระทอง เกาะระ หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยคลื่นยักษ์สึนามิต้องอพยพหนีภัยขึ้นมาอาศัยอยู่บนฝั่งทั้งหมด มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 หมู่บ้าน และต้องอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว อีกทั้งหวาดกลัวและขวัญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเมื่อได้ทำการเก็บข้อมูลสำรวจความเสียหายเบื้องต้น พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย คือ

หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งดาบ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะพระทอง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 67 ครัวเรือน และมี 15 ครัวเรือนที่ตั้งอยู่ในจุดที่คลื่นปะทะจนบ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 16 คน เป็นคนนอกพื้นที่ 4 คน พม่า 1 คน และสูญหายอีก 1 คน (เด็กอายุ 1 ขวบ ชาวพม่า) โรงเรียนได้รับความเสียหาย 1 แห่ง ศาลาประชาคม 1 หลัง เครื่องใช้สาธารณูปโภคเสียหายทั้งหมด รวมถึงบ่อน้ำจืดในหมู่บ้านด้วย นอกจากนี้เรือและเครื่องมือประมงของประชาชนก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากเช่นกัน

หมู่ที่ 2 บ้านท่าแป๊ะโย้ย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะพระทองด้านในสุด ตรงข้ามกับเกาะทุ่งทุ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 140 ครัวเรือน ประชาการจำนวน 411 คน บ้านท่าแป๊ะโย้ยได้รับผลกระทบเพียงน้ำเอ่อท่วมสูงและไหลเชี่ยว จนทำให้บ้านเรือนและอุปกรณ์ในบ้านพังเสียหาย กระชังปลา เรือ และเครื่องมือประมงได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ แต่ประชาชนต่างรู้สึกเสียขวัญ และอพยพขึ้นไปอยู่บนตำบลคุระเป็นระยะ ๆ

หมู่ที่ 3 บ้านเกาะระ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะระ ซึ่งเป็นฝั่งด้านใน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 10 ครัวเรือน มีรีสอร์ท 2 แห่ง บ้านเรือนพังเสียหายจำนวน 2 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 คน เรือและเครื่องมือประมงได้รับความเสียหายทั้งหมด
หมู่ที่ 4 บ้านปากจก ตั้งอยู่ติดหาดด้านเหนือทิศตะวันตกของเกาะพระทอง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 96 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 222 คน และเนื่องจากพื้นที่นี้เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์มากที่สุด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 38 ราย สูญหาย 10 ราย บ้านเรือน วัด 1 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง บ้านพักครู 3 หลัง สถานีอนามัย 1 แห่ง บ้านพักอีก 2 หลัง ศาลาประชาคม 1 หลัง ถนน บ่อน้ำ สะพานพังเสียหายทั้งหมดจนไม่เหลือสภาพความเป็นชุมชนเดิมมาก่อน ประชาชนต่างตื่นตระหนกและเสียขวัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นก็รีบอพยพผู้คนกันไปอาศัยอยู่บนฝั่งตำบลคุระหลายครั้งหลายหน

หมู่บ้านมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ เนื่องจากชาวมอแกนเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลบริเวณเกาะต่าง ๆ  และที่หมู่เกาะสุรินทร์ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีชาวมอแกนอาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 49 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 191 คน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 คน ซึ่งเป็นคนพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โรงเรียนสุรัสวดี 1 แห่ง บ้านเรือน เรือและเครื่องมือประมงพังเสียหายทั้งหมด และเนื่องจากวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมาเนิ่นนาน ดังนั้นหลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิผ่านพ้นไป กลุ่มชาวมอแกนจึงได้รับการช่วยเหลือให้อพยพกลับไปยังถิ่นฐานเดิมอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548

บ้านปากเกาะ บ้านนอกนา บ้านเมืองใหม่ ตำบลเกาะคอเขา ตั้งอยู่บ้านเกาะคอเขา ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะพระทอง ตลอดแนวชายฝั่งทิศตะวันตกของเกาะคอเขาได้รับความเสียหายอย่างหนักเป็นจำนวนกว่า 200 ครัวเรือน บ้านพังเสียหาย 37 หลัง มีผู้เสียชีวิต 76 คน เรือและเครื่องมือประมงได้รับความเสียหายมากจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้

ความเสียหายด้านฐานทรัพยากร

ได้มีการสำรวจเป็นการเบื้องต้นในพื้นที่เกาะพระทอง เกาะระ และเกาะคอเขา โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Landsat  และ GPS พบว่าอิทธิพลของคลื่นยักษ์สึนามิ ก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่และระบบนิเวศน์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตก ซึ่งน้ำทะเลได้ท่วมถึงเข้าไปในพื้นที่บนบกประมาณ 2-3 กิโลเมตร และมีน้ำท่วมสูง โดยเฉลี่ย 1.5-4  เมตร ทำให้บ่อน้ำจืดและทรัพยากรธรรมชาติบริเวณนั้นเสียหาย ดังนี้

ผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้

  • บริเวณทุ่งหญ้า ป่าชายหาด ป่าพรุและป่าชายเลนบางส่วน ถูกคลื่นพัดกระแทกจนราบ บางส่วนก็ถูกกระแสน้ำพัดจนถอนรากถอนโคนกองไปอยู่รวมกันเป็นระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตรห่างจากชายฝั่ง และมีการยืนต้นตายของต้นไม้ที่โดนน้ำทะเลท่วมถึง
  • ระบบนิเวศแหล่งน้ำจืด บริเวณด้านตะวันตกของเกาะพระทอง ซึ่งห่างจากชายฝั่งเข้าไปประมาณ 2-3 กิโลเมตร บริเวณร่องเหมือง หาน สระน้ำสาธารณะทุ่งอุ่นเนื้อ ได้ถูกน้ำเค็มเข้าแทนที่ แต่ก็ยังมีบ่อน้ำตื้นบริเวณทุ่งอุ่นเนื้อและบริเวณบ้านปากคลองที่ยังคงมีสภาพน้ำจืดเหมือนเดิม
  • น้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นทำให้สัตว์อาศัยในแหล่งน้ำจืดตายเป็นจำนวนมาก
  • เกิดการกัดเซาะและการเปลี่ยนแปลงของชายหาดอย่างรุนแรง บริเวณชายฝั่งด้านใต้และด้านตะวันตกของเกาะพระทอง มีระยะทางยาวประมาณ 18 กิโลเมตร โดยเกิดการพังทลายจากแนวเดิมประมาณ 5-15 เมตร และได้เปิดร่องน้ำบริเวณปากคลองทุ่งดาบ แอ่งทุ่งระเบิดและคลองทางเข้ ที่เดิมเคยปิดอยู่ให้สามารถเชื่อมออกสู่ทะเลใหญ่ได้
  • ความเป็นกรด-ด่าง ของพื้นที่บริเวณที่น้ำท่วมถึงจำนวน 15 จุด พบว่าพื้นที่ที่เคยมีน้ำทะเลท่วมถึงและแห้งไปแล้ว มีค่า pH อยู่ในช่วง 2-4.5 ส่วนบริเวณแหล่งน้ำมีค่า pH อยู่ในช่วง 6-7
  • มีการพัดพาดินโคลนขึ้นมาปกคลุมหน้าดินเดิมในบางช่วง

ผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์ป่า

ได้ทำการสำรวจตั้งแต่แนวน้ำทะเลท่วมถึงไปจนถึงแหล่งน้ำจืดและร่องรอยของสัตว์ป่า โดยแบ่งพื้นที่ทำการสำรวจออกเป็น 3 ช่วง คือ 1.ชายหาดบ้านทุ่งดาบ-ปลายสวนคุณอาภร 2.สวนกำนันเกียรติ และ 3.สุดขอบฟ้ารีสอร์ท-บ้านปากจก พบว่า

  • ยังมีร่องรอยของกวางป่าและหมูป่าลงมากินน้ำตามแหล่งน้ำจืดในหลายจุดด้วยกันคือ บริเวณป่าพรุริมคลองจอเล็ก บริเวณนบเกาะชาด บริเวณด้านเหนือของหานหล่มได้ทางทิศเหนือของเกาะพระทองจนถึงทางทิศใต้ของเกาะ และบริเวณป่าพรุแถบทุ่งอุ่นเนื้อและบาง  ปิหลัง
  • พบนกตะกรุมลงมาหากินบริเวณหนองน้ำในทุ่งหญ้าตอนกลางของเกาะ

ผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่งทะเล

  • มีการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลเข้ามาจากแนวเดิม 10-15 เมตร ทำให้เกิดเป็นหาดทรายทอดตัวยาวตามชายฝั่งกว้างขึ้น พืชที่เคยขึ้นในบริเวณชายหาด เช่น ผักบุ้งทะเล ผักลิ้นห่าน ได้รับความเสียหาย เกิดการกัดเซาะตลิ่งริมหาดพังหลายแห่ง บางแห่งก็เป็นร่องลึก และบางแห่งก็กลายเป็นร่องน้ำใหม่เชื่อมต่อกับลำคลองป่าชายเลนเดิม
  • ป่าพรุ ป่าชายหาด ป่าชายเลน ทุ่งหญ้า ป่าเสม็ด ป่าบกและแหล่งน้ำธรรมชาติได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิอีกหลายแห่ง ซึ่งมีความรุนแรงที่ไม่แตกต่างกัน เช่น ความเสียหายในด้านบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เรือ เครื่องมือประกอบอาชีพ และวิถีชีวิตของชุมชน พื้นที่ที่กล่าวถึง คือ ตำบลบางม่วง ตำบลคึกคัก ตำบลนาเตย ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ซึ่งทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ และองค์กรพันธมิตร ได้ทำการช่วยเหลือโดยประสานงานกับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและองค์กรชาวบ้านในเครือข่าย เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเป็นการเบื้องต้น อีกทั้งได้วางแผนเพื่อฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไป ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดการพลิกฟื้นทั้งในด้านวัตถุ ทรัพยากรธรรมชาติ และจิตใจของผู้ประสบภัยให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในเชิงสร้างสรรค์ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน องค์กร เพื่อเป็นแรงพลังขับเคลื่อนอันจะนำไปสู่ความสัมฤทธิผลในเชิงบูรณาการอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อดำเนินการสำรวจฐานทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนประมงพื้นบ้าน บริเวณตำบลเกาะพระทอง ตำบลคุระ ตำบลเกาะคอเขา ตำบลบางม่วง ตำบลคึกคัก ตำบลนาเตย ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา อย่างเร่งด่วน
  2. เพื่อดำเนินกิจกรรมให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนต่อระบบนิเวศน์และชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะพระทอง ตำบลคุระ ตำบลเกาะคอเขา ตำบลบางม่วง ตำบลคึกคัก ตำบลนาเตย ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา
  3. เพื่อเสริมสร้างกระบวนการในการแก้ไขปัญหาของชุมชนประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะพระทอง ตำบลคุระ ตำบลเกาะคอเขา ตำบลบางม่วง ตำบลคึกคัก ตำบลนาเตย ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา
  4. เพื่อจัดทำแผนแม่บทชุมชนระยะกลาง( 2-3ปี )ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง และผลักดันให้แผนนั้นได้รับการสนับสนุนในการปฏิบัติต่อไป

พื้นที่เป้าหมาย

  1. หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งดาบ ตำบลเกาะพระทอง
  2. หมู่ที่ 2 บ้านท่าแป๊ะโย้ย ตำบลเกาะพระทอง
  3. หมู่ที่ 3 บ้านเกาะระ ตำบลเกาะพระทอง
  4. หมู่ที่ 4 บ้านปากจก ตำบลเกาะพระทอง
  5. หมู่บ้านมอแกน เกาะสุรินทร์ ตำบลเกาะพระทอง
  6. หมู่ที่ 1 บ้านเมืองใหม่ ตำบลเกาะคอเขา
  7. หมู่ที่ 2 บ้านนอกนา ตำบลเกาะคอเขา
  8. หมู่ที่ 3 บ้านปากเกาะ ตำบลเกาะคอเขา
  9. หมู่ที่ 5 บ้านปากเตรียม ตำบลคุระ
  10. หมู่ที่ 4 บ้านท่าเขา ตำบลเกาะยาวน้อย
  11. หมู่ที่ 5 บ้านริมเล-แหลมไทร ตำบลเกาะยาวน้อย
  12. หมู่ที่ 6 บ้านแหลมยาง ตำบลเกาะยาวน้อย
  13. หมู่ที่ 2 บ้านช่องหลาด ตำบลเกาะยาวใหญ่
  14. หมู่ที่ 4 บ้านคลองบอน ตำบลเกาะยาวใหญ่
  15. หมู่ที่ 7 บ้านคลองดินเหนียว ตำบลพรุใน
  16. บ้านทับตะวัน ตำบลบางม่วง
  17. บ้านทุ่งว้า ตำบลคึกคัก
  18. บ้านแหลมปะการัง ตำบลคึกคัก
  19. บ้านในไร่ ตำบลนาเตย

ระยะเวลาในการดำเนินการ    9 เดือน ( เดือนมีนาคม – ธันวาคม 2548 )

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: