homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

บ้านส้าน...ตลาดสดของชุมชน (1)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 มิถุนายน 2554


            หากต้องซื้อของสดเพื่อประกอบอาหาร เราจะนึกถึงบ้านส้านหรือตลาดสด ถ้าเป็นคนชั้นกลางในเมืองมีรายได้พอประมาณจะมุ่งหน้าไปที่ซุปเปอร์มาเก็ต

            แต่เกาะภูเก็ตที่มีทะเลล้อมรอบ ชุมชนที่อยู่ชายฝั่งมีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยอยู่กินยังชีพจากระบบนิเวศชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเลที่เปรียบเสมือนเป็น “บ้านส้าน...ตลาดสดของชุมชน”

แม้ว่าเกาะภูเก็ตจะมีขนาดพื้นที่ไม่มาก แต่มีข้อได้เปรียบมากมายที่จังหวัดอื่นไม่มี เรามีป่าไม้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นป่าต้นน้ำ มีระบบนิเวศชายฝั่งและทะเลที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คือมีทั้งป่าชายเลน ลำคลองคลองน้ำเค็ม หญ้าทะเล และแนวปะการังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกทั้งทางฝั่งทะเลตะวันออกติดกับอ่าวพังงาเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ

            แหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่พบมี 2 แห่งคือ อ่าวป่าคลอกและอ่าวฉลอง แต่แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่และคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่อ่าวป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

            อ่าวป่าคลอกครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านผักฉีด  หมู่ที่ 2 บ้านป่าคลอกที่เรียกกันติดปากว่าหาดท่าหลา หมู่ที่ 3 บ้านบางโรง และหมู่ที่ 7 บ้านยามู และอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ตมีอาณาเขตอยู่ในอ่าวพังงา ทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นชายฝั่งมีลักษณะเป็นอ่าวเปิด พื้นที่ชายฝั่งอ่าวป่าคลอกมีแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ประมาณ 1,800 ไร่  พบหญ้าทะเลที่อ่าวป่าคลอกทั้งสิ้น 9 ชนิด คือ 1.หญ้าเงา  2.หญ้าเงาใบเล็ก  3.หญ้าเงาแคระ  4.หญ้าชะเงาเต่า  5.หญ้าชะเงาใบมน  6.หญ้าชะเงาใบเลื่อย  7.หญ้าคาทะเล  8.หญ้ากุ้ยช่ายเข็ม และหญ้ากุ้ยช่ายทะเล จากหญ้าทะเลที่พบในประเทศไทย จำนวน 12 ชนิด  ความอุดมสมบูรณ์ของหญ้าทะเลที่ป่าคลอกนี้เอง ทำให้พบสัตว์น้ำหายากทั้งพะยูน โลมา เต่าทะเล เข้ามาหาอาหารและอาศัยอยู่บริเวณใกล้ฝั่งอยู่เสมอ

            ในทุกวันที่น้ำทะเลลดลงจะพบชาวบ้านทั้งที่อาศัยอยู่ชายฝั่งและอาศัยบริเวณใกล้เคียงมาเก็บหอยชักตีน หอยแครง หอยราก (บางแห่งเรียกว่าหอยปากเป็ด) และสารพัดหอยเพื่อขายและเป็นกับข้าวในมื้อเย็น  ภาพชาวบ้านวางอวนปลากระบอกริมชายหาดตามแนวหญ้าทะเลเป็นภาพเห็นจนชินตา สร้างรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 400-500 บาท  หรือแม้กระทั่งการรุนกุ้งเคย (บางพื้นที่เรียกว่าละวะหรืออีลู่เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านใช้แรงคนเดินรุนตามชายหาด) เพื่อนำไปแปรรูปเป็นกะปิชั้นดีมีคุณภาพของบ้านป่าคลอกที่ผลิตไม่พอขาย ต้องสั่งจองล่วงหน้านานนับเดือน ราคากิโลกรัมละ 100-130 บาท ราคาแพงเมื่อแทบกับกะปิที่อื่น แต่ของดีมีคุณภาพและรับประกันความสะอาด ที่สำคัญวิธีการได้กุ้งเคยนั้นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรที่สำคัญไม่แพ้แหล่งหญ้าทะเลก็คือ “ป่าชายเลน” ภูเก็ตมีป่าชายเลนไม่มากนัก เพราะทางฝั่งตะวันตกของภูเก็ตเป็นหาดทราย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น หาดกะตะ หาดป่าตอง หาดกระรน หาดสุรินทร์ ฯลฯ  จึงพบป่าชายเลนส่วนใหญ่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของเกาะ  และมีการกระจายตัวค่อนข้างมาก

  (โปรดติดตามฉบับหน้า)

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: