homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ล่องคลองพังงา (ตอนที่1)
ตอน ย้อนอดีตเมืองเหมืองแร่

หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์  วันที่ 1-15 ตุลาคม 2552

            ภายหลังจากรับประทานขนมจีนและกาแฟโบราณที่บ้านท่าไร่เป็นอาหารมื้อเช้าแล้ว ฉันพร้อมด้วยสมาชิกทั้งชาย หญิงและเด็กๆ แยกย้ายลงเรือ 3 ลำ ปลายทางอยู่ที่ต้นน้ำของคลองพังงา

            บ้านท่าไร่ เป็นกลุ่มบ้านย่อยใน หมู่ที่ 5 ต.บางเตย จ.พังงา เพราะอยู่ใกล้กับอ่าวพังงาซึ่งเป็นปลายทางของคลองพังงา เช้าวันเดินทางอากาศดีมาก แสงแดดอ่อนๆ ฉันไม่รีรอที่จะเดินออกไปรับวิตามินอีให้ทั่วร่าง แต่ทุกคนก็รู้ว่าฝนเมืองพังงานั้นเอาแน่อะไรไม่ได้  

คลองพังงาเป็นคลอง 2 น้ำ ไหลมาจากบ้านนบปริง หรือบ้านสองแพรก ซึ่งอยู่ในเขต อ.เมือง จ.พังงา ซึ่งคลองพังงามีสายคลองย่อยไหลผ่านบริเวณชุมชนถนนใหม่  บ้านถ้ำน้ำผุด  บ้านฝ่ายท่า  วังหม้อแกง ท่าด่าน  บ้านเกาะไม้ไผ่ ต.เกาะปันหยี บ้านเขาเฒ่า ต.บางเตย  บ้านในหงบ ต.ตากแดด เป็นต้น ก่อนไหลลงสู่อ่าวพังงา

            “เมื่อก่อนป่าชายเลนแถวๆ นี้ เขามาสัมปทานเหมืองแร่ ป่าเลนหมด ไม่เหลือ” นายหยัน  วารีศรี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรบ้านท่าไร่ ชี้ให้ดูป่าชายเลนที่อยู่ในเขต ต.บางเตย ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ ในอดีตเคยตกเป็นพื้นที่สัมปทานเมืองแร่

และนายสุโบ๊  วาหะรักษ์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรบ้านท่าไร่ ให้ข้อมูลเพิ่ม “สมัยก่อนพวกเราชาวบ้านส่วนใหญ่ไปเป็นลูกจ้างเรือดูดแร่ ตอนนั้นแร่ราคาดี ค่าจ้างก็ได้ดี บางคนที่ไม่ไปรับจ้างดำแร่ ร่อนแร่ก็ทำอาชีพประมงเหมือนเดิม แร่อยู่ใต้ดินถ้าจะเอาแร่ก็ต้องตัดไม้ในป่าชายเลนให้หมด” พร้อมทั้งชี้ให้ดูต้นไม้ลำต้นใหญ้เยียดตรงในป่าชายเลน “เมื่อก่อนต้นใหญ่ๆ แบบนั้น ต้องโค่นทั้งหมดเลย ถ้าไม่โค่น เรือขุดแร่จะเข้ามาไม่ได้”

            แร่ที่พูดถึงนี้เป็นแร่ดีบุก เหมืองแร่เฟื่องฟูก่อนปี 2500 ก่อนที่กรมป่าไม้จะให้สัมปทานบัตรตัดไม้เผาถ่านเพื่อส่งไปขายยังปีนัง สิงคโปร์  ราคาแร่ดีบุกขึ้นๆ ลงตามสภาพเศรษฐกิจ บางช่วงราคาแร่ตก เจ้าของก็หยุดกิจการเหมืองชั่วคราว ยามเมื่อราคาแร่ดีขึ้น เหมืองแร่จึงกลับมาอีกครั้งประมาณ ปี 2521

            ก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ราคาแร่ดีบุกสูงถึง 15,000 – 20,000บาท ต่อ 1 หาบ (1 หาบประมาณ 60 กิโลกรัม) ชาวบ้านมีรายได้ค่อนข้างดี แต่ก็ต้องแลกไปด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์มาก  ภายหลังจากปี 2529 เป็นต้นมาราคาแร่ดีบุกเริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ เหลือราคาหาบละ 6,000 บาท (ข้อมูลจากการบอกเล่าของนายสวัสดี วาหะรักษ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 บ้านบางพัฒน์ ต.บางเตย จ.พังงา เมื่อปี 2539) ส่งผลให้การทำเหมืองแร่ในพังงาเริ่มซบเซาและปิดตัวลงในที่สุด

            ในวันนี้วันที่ฉันนั่งเรือหัวโทง เรือประมงของชาวบ้านแล่นผ่านป่าชายเลนผืนใหญ่กินพื้นที่บริเวณกว้าง ทั้งยังเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์มากเสียด้วย ไม่มีวี่แววอดีตอันรุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่แม้แต่นิด นายท้ายเรือจงใจแล่นเรือลัดเลาะริมฝั่ง เพื่อให้พวกเราได้ใกล้ชิดและยินเสียงแห่งความสุขของต้นโกงกาง ยอดโกงกางสีเขียวอ่อนล้อเล่นลมกวัดแกว่งไปมาราวกับโบกมือทักทายให้กับฉันและผู้ร่วมทาง

            แม้ว่าวันและคืนอันเลวร้ายของการทำลายป่าชายเลนภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดจะผ่านไปแล้ว ....แต่การทำลายและบุกรุกป่าชายเลนยังดำเนินต่อไปในรูปแบบใหม่ๆ ตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงชายฝั่งในนามของ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หรือ การขยายพื้นที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ

            เสียงใบไม้ของต้นโกงกาง ลำพู ลำแพน ปาด ตะบูน หยอกล้อเล่นลมกันอย่างมีความสุข...
            ฉันคงจะไม่ได้ยินเสียงนั้นอีกแล้ว ....การทำลายภายใต้การพัฒนากำลังเดินทางมาในไม่ช้า...

                                                                                                            (โปรดอ่านต่อตอนจบ)

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ  องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: