homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ล่องคลองพังงา (ตอนจบ)
ตอน ย้อนอดีตเมืองเหมืองแร่

หนังสือพมิพ์ภูเก็ตโพสต์ วันที่ 16 - 31 ตุลาคม 2552    (อ่านตอน 1)

            ในขณะที่ฉันกำลังดื่มด่ำกับความสุขกับบรรยากาศอันร่มรื่นของป่าชายเลนอยู่นั้น บังหยัน หรือ นายหยัน  วารีศรี ชี้ให้ดูร่องรอยเตาเผาถ่าน “นั้นไง ตรงนั้นที่มีเพิงเก่าเคยเป็นเตาเผาถ่าน เรียกำว่าหลุมถ่าน ตอนนี้ไม่มีการเผาถ่านแล้ว ปล่อยทิ้งร้างไว้เฉยๆ”

            ฉันนึกถึงการสนทนากับบังสุโบ๊ (สุโบ๊ วาหะรักษ์) ก่อนล่องเรือ บังสุโบ๊เล่าให้ฟังว่า

            “เมื่อก่อนมีการดูดแร่ต้องตัดโค่นต้นไม้ในป่าชายเลน พอมีการให้สัมปทานเตาถ่านก็ต้องต้นไม้ในป่าชายเลนอีก ตัดต้นไม้บ้างปลูกทดแทนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกทดแทน ป่าไม้ก็โตไม่ทัน ตัดไม่ทุกวันป่าชายเลนก็หมด...ไม่เหลือ”

            การให้สัมปทานพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อนำไม้เผาถ่านในสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่จะส่งไปขายยังปีนังและสิงคโปร์ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าไม้โกงกางเมื่อนำมาเผาจะได้ถ่านคุณภาพดี ในขณะที่พื้นที่ป่าชายเลนใน จ.พังงาเริ่มลดลงและเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เพราะว่าผู้สัมปทานบัตรไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบการสัมปทาน นั่นคือ เมื่อตัดไม้แล้วต้องปลูกทดแทน อีกทั้งมีการลักลอบตัดไม้โกงกางนอกแปลงสัมปทานบ่อยๆ

            นอกจากสนทนากับบังสุโบ๊แล้วนั้น ยังมีแกนนำชุมชนอีกหลายคนที่มาร่วมวงคุยเล่าย้อนอดีต ถึงเรื่องการสัมปทานเหมืองแร่และเตาถ่าน ซึ่งทุกคนมีความเห็นไม่ต่างกันในเรื่องป่าชายเลนยังเป็นแหล่งที่ทำมาหากินของคนในชุมชน

            เรือหัวโทงแล่นไปเรื่อยๆ สายลมเย็นปะทะใบหน้าของฉันนั้นเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าฝนกำลังจะตกในอีกไม่ช้า แนสังเกตุเห็นลำคลองย่อยๆ หลายสายทั้งทางซ้ายและขวา บังหยันได้ขยายข้อสงสัยว่า

            “ลำคลองสายย่อยพวกนี้บางสายก็เชื่อมต่อกัน บางสายก็เป็นทางลัดไปท่าเรือท่าด่านแล้วไปเกาะปันหยีได้ ในอดีตบางสายก็ไปเทียบท่าที่ท่าวังหม้อแกง ตอนนี้เรือเข้าไปไม่ได้แล้ว คลองตื้นไม่ได้ใช้งานมานานมาก ในสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่จะเดินทางไปตัวเมือง (ตัวจังหวัดพังงา) โดยเรือ เมื่อก่อนยังไม่มีเครื่องยนต์ก็แจวเรือไปเรื่อยๆ ห่อข้าวไปกินด้วยเพราะบางทีติดช่วงน้ำลงแจวเรือไปไม่ได้ก็จะต้องหยุดพักกินข้าวไปด้วย ใช้เวลานานกว่าจะไป กว่าจะกลับถึงบ้าน”

            พวกเราทุกคนเตรียมหมวกมาเพื่อกันแดดแต่ไม่ได้กันฝน โชคดีที่มีแค่ละอองฝนโปรยปรายเท่านั้น เราล่องเรือลอดใต้สะพานพังงาเป็นสะพานเล็กๆ มุ่งหน้าเมืองพังงา ฉันแอบตักน้ำในคลองขึ้นมาชิม...อืมเป็นน้ำจืดแล้ว ทีมนักสำรวจคลองพังงาล่องเรือต่อไปถึงชุมชนถนนใหม่และต้องหยุด เพราะมีรถแบ๊คโฮกำลังขุดทรายอีกทั้งลำคลองค่อนข้างตื้นเรือไม่สามารถแล่นต่อไปได้ หลังจากพักเหนื่อยแล้วพวกเรานักสำรวจสมัครเล่นล่องเรือกลับตามเล่นทางเดิม แต่นายท้ายเรือใช้คลองทางลัดแทนการแล่นเรืออ้อมปากอ่าวพังงาทำให้ร่นระยะทางได้เยอะ และยังได้เห็นต้นไม้ในป่าชายเลนที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 2 คนโอบจำนวนหลายต้น

ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น มีถนนผ่านหน้าหมู่บ้านเข้าสู่ตัวเมืองพังงาและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังมีรถโดยสารหรือรถยนต์ส่วนตัวใช้เดินทางไปได้ตามใจปรารถนา

ความสะดวกสบายในปัจจุบันที่ได้มาก็ต้องแลกกับความสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนอีกแล้วหรือ?

แม้ว่าวันและคืนอันเลวร้ายของการทำลายป่าชายเลนภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดจะผ่านไปแล้ว ....แต่การทำลายและบุกรุกป่าชายเลนยังดำเนินต่อไปในรูปแบบใหม่ๆ ตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงชายฝั่งในนามของ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การขยายพื้นที่การคมนาคม หรือการขยายพื้นที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ

            วัฏจักรของการทำลายกลับมาเยือนอีกครั้ง หากคิดในแง่ดีนั่นเป็นบททดสอบว่าองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง ในการปกป้องป่าชายเลนของชุมชนเอาไว้ได้หรือไม่??  

            ขณะที่ฉันเดินทางกลับผ่านป่าชายเลน... ฉันไม่ได้ยินเสียงใบไม้ของต้นโกงกางหยอกล้อเล่นลมกันอย่างมีความสุขอีกแล้ว... เพราะเสียงแห่งการทำลายภายใต้การพัฒนากำลังเดินทางมาในไม่ช้า... 

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ  องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: