homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ไปเจ้ยเคย (1)

หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์ วันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2552

ฉันรอคอยการเดินทางมาถึงของกุ้งเคยที่บ้านในไร่เป็นเวลานานนับปี เพื่อรอจะได้ไป “เจ้ยเคย” ตามคำเชิญชวนของเพื่อนที่อยู่บ้านในไร่ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกว่า “เคยขึ้นแล้ว...ไปเจ้ยเคยกันเถอะ”

ยามสายของวันที่แดดร่ม ลมแรงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันได้รับข่าวจากเพื่อนหนุ่มว่า กุ้งเคยฝั่งทะเลอันดามันมาแล้ว ชาวประมงแถวๆ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงาออกไปเจ้ยเคยกันทุกวัน และต้องเดินทางไปบ้านในไร่วันนี้!

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ฉันตกปากรับคำในทันทีและ สนใจการมาถึงของกุ้งเคยฝั่งทะเลอันดามันก็คือ “การเจ้ยเคย” ...ฉันไม่รู้จักการเจ้ยเคย จริงอยู่ คำว่า “เคย” ก็คือ กะปิ  แต่ “เจ้ย” นั่นคืออะไร? คงต้องไปค้นหา

หมู่บ้านในไร่  หมู่ที่  7  ต.นาเตย  อ.ท้ายเหมือง  จ.พังงา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามันและได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัยสึนามิทั้งชุมชน ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพ้นบ้าน เช่น อวนปลา อวนหมึก อวนลอยกุ้ง 3 ชั้น อวนปู หรือการเจ้ยเคย เป็นต้น ส่วนแม่บ้านก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น การติดตายาง

ครั้งแรกที่ฉันได้ยินคำว่า “เจ้ยเคย” ยอมรับว่างง และไม่เข้าใจคืออะไร แต่พอจะเดาได้ว่า ต้องเกี่ยวข้องกับกุ้งเคยแน่ๆ

“เจ้ย เป็นภาษาใต้แปลว่า การตัก ช้อน ดังนั้นการเจ้ยเคยก็คือการช้อนกุ้งเคย” นายอนันต์  เขื่อนหมื่น หรือ ใครๆ มักจะเรียกว่า “โกอ๊อด” ขยายความไขข้อข้องใจทำให้ฉันถึงบางอ้อในทันที และโกอ๊อดเล่าให้ฟังถึงเครื่องมือการเจ้ยเคยว่า “การเจ้ยเคยจะมีเครื่องมือคือมีคันไม้ไผ่ 1 คู่ ความยาว 7 เมตร และเย็บถุงอวนเข้ากับคันไม้ไผ่ ไว้ด้านหน้าของเรือประกอบกับเครื่องยนต์ ใช้เรือท้องแบน เป็นเรือลำเล็ก ถ้าดูลักษณะภายนอกจะคล้ายเรืออวนรุนลำเล็ก แต่คันรุนที่จะรุนกุ้งเคยจมน้ำทะเลเพียง 3-4 เมตร เพราะกุ้งเคยจะอยู่รวมตัวเป็นฝูงบริเวณผิวน้ำ น้ำทะเลลึก ประมาณ 6 - 8 เมตร ฉะนั้นคันไม้ไผ่จะไม่จมลงไปรุนถึงพื้นทราย”

            จริงอยู่ที่เครื่องมือการเจ้ยเคยมีลักษณะเหมือนอวนรุน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำลายทรัพยากรชายฝั่งและผิดกฎหมายตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การเจ้ยเคยมีความแตกต่างจากเรืออวนรุนตรงที่คันไม้ไผ่บนเรือท้องแบนทำการช้อนตักเฉพาะฝูงกุ้งเคยเท่านั้น และคันไม้ไผ่ก็ไม่ลงไปดันและรุนถึงพื้นทราย ส่วนเรืออวนรุนนั้นมีคันไม้ไผ่ที่ลงไปสัมผัสถึงหน้าดินทำการผลักและดันไปข้างหน้าจะทำการกวาดต้อนสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อาศัยอยู่หน้าดินเข้าไปในถุงอวน อีกทั้งจะทำลายหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นอาหารของพะยูน และเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของทรัพยากรชายฝั่ง

ถ้าวันนั้นฉันไม่ไปเห็นกับตาตัวเองว่าการเจ้ยเคยได้แต่กุ้งเคย ก็คงไม่เข้าใจและถ้าเห็นเรือท้องแบนของชาวบ้านจอดเทียบท่าโดยประกอบเครื่องมือเจ้ยเคยไว้บนเรือก็คงเข้าใจว่า นั่นคือเรืออวนรุนลำเล็ก

และแล้ว...ความไม่เข้าใจกันก็เกิดขึ้น
จะเกิดอะไรขึ้น

โปรดอ่านต่อฉบับหน้า ....

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: