homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ไปเจ้ยเคย (2)

หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2552

ในวันที่แดดร้อน ฟ้าใสไร้กลุ่มเมฆฝน ฉันออกไปเจ้ยเคยหรือช้อนตักกุ้งเคยโดยเรือท้องแบน กับกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้าน และมีโอกาสได้คุยกับบังดุกหรือนายบัณฑิต  หลีบำรุง เป็นชาวประมงพื้นบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และแกนนำเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงา

            “เคย (กุ้งเคย) จะขึ้นในช่วงนี้ของทุกปีครั้งละประมาณไม่เกิน 10วัน พวกเราก็จะมาเจ้ยเคยบริเวณนี้ใกล้ๆ ฝั่ง พอเคยหมดก้ต้องรอปีหน้า”

กุ้งเคยจัดเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง จะดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงไป ซึ่งอาจจะอยู่ในน้ำลึกประมาณหน้าแข้งถึงระดับหน้าอก มีเปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามชายทะเลและลำคลองบริเวณป่าชายเลน ในแถบขั้วโลกใต้จะเป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดใหญ่ มันจะเป็นอาหารที่สำคัญของปลาวาฬ ส่วนในอ่าวไทยเป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดเล็กอยู่ตามชายฝั่ง ในนากุ้งและบ่อปลา สำหรับคนไทยกุ้งเคยเป็นสัตว์เศรษฐกิจซึ่งได้จากธรรมชาติ ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ต่อร่างกาย ใช้กุ้งเคยทำกะปิหรือกุ้งแห้ง

กุ้งเคยทางฝั่งทะเลอันดามันจะขึ้นเป็นฝูงให้ชาวประมงทำการเจ้ย หรือช้อนตักได้ในระหว่างเดือน ตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ครั้งละประมาณ 10 วัน 

บังดุกเล่าให้ฟังต่อว่า “เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ พวกเราเดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ พังงา บอกให้ทางจังหวัดและเจ้าหน้าที่ประมงเข้าใจว่า การเจ้ยเคยไม่ใช่เรืออวนรุนและขอให้ออกเป็นประกาศจังหวัดพังงารับรองการทำประมงอวนช้อนกุ้งเคย ชาวบ้านจะได้ไม่ถูกจับเหมือนปีที่แล้ว พอยื่นหนังสือได้ไม่ทันไร ใบไม่เขียวก็มาจับชาวบ้านที่กำลังเจ้ยเคย เขาบอกว่าเครื่องมือเจ้ยเคยของเราก็คือเครื่องมืออวนรุน”

ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับลงวันที่  20  กรกฎาคม  2515 ห้ามใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุงและเครื่องมืออวนรุน  ละวะ  ชิบหรือรุนกุ้งเคยหรืออวนถุงทุกชนิดและทุกขนาด ที่ใช้เครื่องยนต์ทุกชนิดทำการประมง  ไม่ว่าวิธีการใดๆ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมิให้ถูกทำลายมากเกินควร  โดยใช้บังคับในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทุกจังหวัด

แน่นอนว่าถ้าพิจารณาจากลักษณะเครื่องมือการเจ้ยเคยหรือการช้อนตักเคยแล้ว จะเหมือนกับเรืออวนรุนชาวประมงที่กำลังเจ้ยเคยยอมจะถูกจับกุม แต่ในกรณีนี้อาจจะต้องยกเว้น เพราะการช้อนตักกุ้งเคยบริเวณผิวน้ำทะเลไม่ได้ทำลายทรัพยากรชายฝั่งใดๆ แม้แต่น้อย ทางกลุ่มชาวประมงข้อนตักกุ้งเคยเสนอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความหมายของคำว่า “รุน” กับคำว่า “ช้อน” เสียใหม่ เพราะลักษณะของเครื่องมือเหมือนกันก็จริงแต่การใช้เครื่องมือและการได้มาของสัตว์น้ำก็ต่างกัน

            การเจ้ยเคยทำให้ฉันนึกถึงการตักข้าวต้มในหม้อ ...คันไม้ไผ่ที่มีถุงอวนสีขาวเปรียบเสมือนทัพพี ข้าวต้มที่อยู่ในทัพพีก็เหมือนกับกุ้งเคยที่เข้ามาอยู่ในถุงอวน ...ฉันเห็นแต่กุ้งเคยตัวจิ๋วใสแจ๋วอยู่ในถุงอวน

โปรดอ่านต่อฉบับหน้า

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: