homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ภูเขาบ้านเธอ ทะเลบ้านฉัน (1)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 – 31 ธันวาคม 2554

            “ต้องไปรับคุณเจมส์ที่ตาขุน สุราษฎร์แล้วพาไปถ่ายรูปในหมู่บ้าน” นั่นเป็นงานที่ฉันต้องทำในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

            คุณเจมส์เป็นช่างภาพอิสระมาจากประเทศอังกฤษแต่ทำงานที่ประเทศไทยนานถึง 12 ปี ฉะนั้นใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้...ไม่มีปัญหา  ชอบภูเขามากกว่าทะเลจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาเยอะ และมาภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี พังงาและภูเก็ต เพื่อถ่ายภาพวิถีชีวิตและภาพที่สะท้อนปัญหาของชาวบ้านรากหญ้า การเดินทางของฉันกับคุณเจมส์เริ่มต้นที่หมู่บ้านท่าสนุก หมู่ที่ 3 ต.มะรุ่ย จ.พังงา

ที่บ้านท่าสนุกมีประเด็นเรื่องการจัดการ “ดอนหอยตลับ” ซึ่งเป็นหอยตลับตามธรรมชาติมีอยู่ช่วงกลางลำคลองมะรุ่ย ต้องรอในวันที่น้ำลงต่ำที่สุดจึงเห็นดอนหอยที่เป็นหาดทราย ซึ่งมีหอยตลับขนาดใหญ่ เล็กอยู่ในดอนทรายนั้น และขนาบข้างด้วยแนวป่าชายเลนผืนสมบูรณ์ที่ชุมชนบ้านท่าสนุกช่วยกันฟื้นฟูและดูแล แต่เกิดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์... เพียงแค่ปักหลักล่อเชื้อหอยนางรมกลับส่งผลทำให้ดอนหอยตลับเสื่อมโทรมจนหอยตลับสูญหายไปจากหมู่บ้านหลายปี

            “เมื่อก่อนชาวบ้าน หมู่ 3 รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปปักหลักล่อเชื้อหอยนางรมปิดหัว ปิดท้ายดอนหอย ทำให้น้ำทะเลไม่ไหลผ่านชะล้างตะกอนดินเลนออกไปจากพื้นที่ดอนหอยตลับ ทำให้เกิดการทับถมของดินเลนส่งผลให้หอยตลับไม่โตและตายลง ดินเลนที่มีการทับถมนั้นสูงเท่าหัวเข่า ต่อมามีการคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในหมู่บ้านจะฟื้นฟูดอนหอยตลับ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของชุมชนกลับคืนมา” อ้าหมีด คำนึงการ ผู้ใหญ่บ้านท่าสนุกเล่าถึงเหตุการณ์ทำให้ดอนหอยตลับเสื่อมโทรม

            ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านเล่าเรื่องราวประกอบกับชี้ให้ดูอาณาเขตของดอนหอยตลับ และชาวบ้านในหมู่บ้านและต่างพื้นที่กำลังหาหอยตลับกันอย่างมีความสุขด้วยความที่มีหอยตลับมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นฟูและจัดการดอนหอยตลับ คุณเจมส์...ช่างภาพหนุ่มกดชัตเตอร์บันทึกภาพผู้ใหญ่บ้านไม่หยุดรวมไปถึงถ่ายภาพชาวบ้านที่หาหอยตลับด้วย

ดอนหอยตลับ บ้านท่าสนุก มีความกว้าง 465 เมตร ยาว 990 เมตร คิดเป็นพื้นที่ 287 ไร่ ภายหลังจากการฟื้นฟูดอนหอยตลับเมื่อ 4 ปีก่อน โดยการรื้อหลักหอยนางรมของชาวบ้านที่ปิดหัว ปิดท้ายดอนหอย ทำให้น้ำทะเลไหลผ่านได้สะดวก พื้นที่ที่เป็นดินเลนค่อยๆ ฟื้นสภาพกลับเป็นดอนทราย และในที่สุด “หอยตลับ” ก็คืนกลับมาสู่บ้านท่าสนุกดั่งเดิม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างมาหาหอยไปขาย บ้างก็นำไปเป็นอาหาร สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน

ในเวลานี้ไม่มีใครสนใจหอยตลับที่จะเป็นแหล่งรายได้ของคนหาหอย แต่กลับสนใจชาวต่างชาติ ผมสีทอง ตาสีฟ้า ถือกล้องตัวใหญ่เดินถ่ายภาพคนหาหอยแห่งบ้านท่าสนุก หลายๆ คน Say Hello กับคุณเจมส์ บางคนก็โบกมือให้เป็นกันทักทายบวกกับรอยยิ้มน้อยๆ ของผู้ใหญ่ และเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่เล่นน้ำมากกว่าเก็บหอย

รอยยิ้มในดวงตาของหนุ่มที่มาจากขุนเขากับรอยยิ้มของเด็กๆ ชาวประมง..ทะเลบ้านของฉันส่งให้กันอย่างตั้งใจ ฝากความประทับไว้ในใจมิรู้ลืม...
                                                                                                โปรดติดตามต่อฉบับหน้า

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: