homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

คนพื้นเมืองภูเก็ตจะอยู่อย่างไร? (1)

            คนท้องถิ่นภูเก็ตเริ่มคุยกันอย่างจริงจังว่า ต่อไปจะพวกเราอยู่อย่างไรในเมื่อหันไปทางไหนก็เจอแต่ชาวต่างชาติที่ย้ายมาอยู่อาศัยในภูเก็ตจำนวนมาก อยู่แบบกึ่งถาวรและส่วนหนึ่งเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่

            บางคนเพียงแค่หัวเราะและไม่เดือดเนื้อร้อนใจนัก เพราะถึงอย่างไร บ้านก็ยังมี ที่ก็ยังอยู่ไม่ย้ายไปไหนใครทำอะไรไม่ได้  บางคนวิตกกังวลอยู่มาก ถึงขนาดว่าต่อไปคนภูเก็ตจะกลายเป็นคนพื้นเมืองอยู่ในบ้านเฉยๆ ให้นักท่องเที่ยวมาเดินเที่ยวชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

            มีข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจมาก  พาดหัวข่าวว่า
            ภูเก็ต เมืองไม่น่าอยู่ ของแพง – รถติด – รวยล้น – จนสุด

            จากข้อมูลของเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่องจัดอันดับความรู้สึกของประชาชนต่อจังหวัด “อยู่แล้วเป็นสุข” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้พักอาศัยอยู่ใน 77 จังหวัดของประเทศช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2554  พบว่า จ.สุพรรณบุรีได้อันดับ 1 โดยมีคะแนนความรู้สึก “อยู่แล้วเป็นสุข” เฉลี่ยอยู่ที่ 7.83 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10  ขณะที่ จ.ภูเก็ต อยู่อันดับสุดท้ายได้ 5.64 คะแนน (จากหนังสือพิมพ์มติชน วันพุธที่ 30 มีนาคม 2554)

            อ่านข่าวนั่นแล้วหัวเราะไม่ออก หน้าชาราวกับโดนตบสัก 10 ครั้ง

            ภูเก็ต...เกาะสวรรค์ของหลายคน อยากมาเที่ยว มาเดินเล่นเตะน้ำทะเล นอนอาบแดดให้ผิวสีแทนดูมีสุขภาพดี ในความรู้สึกของ “คนธรรมดา” ที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวกลับกลายเป็นเมืองที่อยู่แล้ว “เป็นทุกข์”

            “ภูเก็ตเป็นเมืองที่ต้องรีบเร่งในการใช้ชีวิต รถติด ของแพง ที่ดินแพง คนรวยก็รวยมาก คนจนก็จนมาก คนอยู่ในสังคมใช้ชีวิตแบบเปรียบเทียบ ไม่ค่อยมีคนเสียสละด้านจิตใจ คนภูเก็ตเป็นพลเมืองชั้น 2 ไม่มีสิทธิ์ได้ไปในสถานที่ท่องเที่ยวได้ง่ายๆ ฝรั่งนั่งดื่มน้ำอัดลมกับขนมสักจานเป็นครึ่งวันคนเสิร์ฟไม่รังเกียจ แต่พอคนไทยสั่งอาหารเต็มโต๊ะกลับโดนคนเสิร์ฟดูแคลน ฝรั่งแต่งตัวธรรมดาเดินผ่านโรงแรมเพื่อไปชายหาด แต่ถ้าคนไทยเดินผ่านจะเข้ามาหาและทักทันทีว่าที่ส่วนบุคคล” เป็นคำให้สัมภาษณ์ของอดิศักดิ์  อัคสินธวังกูร ประธานชมรมภูเก็ตสุขพัฒนาในข่าวดังกล่าว

            มีการประเมินสถานการณ์ไว้ว่า หากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตในอัตราก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ไม่นานนักคนภูเก็ตที่ขายที่ดินให้กับกลุ่มทุนต่างถิ่นต้องย้ายตัวเองไปอยู่นอกเมืองหรือไม่ก็ไปหาซื้อที่ดินในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อแสวงหาความเงียบสงบ

            เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าคนที่หัวเราะและไม่เดือดเนื้อร้อนใจนัก เพราะยังมีบ้านและไม่ขายที่ดิน...ไม่ย้ายไปไหนใครทำอะไรไม่ได้นั้นอาจจะต้องปรับตัวเองให้อยู่ได้ท่ามกลางความจอแจ จราจรที่วุ่นวายกับรายได้ต่ำแต่ค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่ว

            และในสภาพเช่นนี้เราจะสามารถอยู่ในภูเก็ตที่เปลี่ยนไปเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติได้อย่างมีความสุขหรือไม่??

            ไม่เพียงแต่สถานการณ์ด้านสุขภาวะและความเป็นพลเมืองชั้น 2 ของคนภูเก็ตทวีความเลวร้ายมากขึ้น สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติยิ่งแย่กว่าเดิมอีก คงไม่ต้องอธิบายว่าป่าไม้หายไปไหน  ทำไมทะเลจึงไม่มีปลา นั่นเป็นผลมาจากทุกฝ่ายขานรับการพัฒนาการท่องเที่ยวตามแนวทางเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง เน้นตัวเลขและยอดขายเป็นหลัก

 (โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: