homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

จับตา DSI กับการแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าไม้ที่ดินของรัฐ (ตอน 1)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2553

            กระแสเรื่องโลกร้อนเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงมากที่สุดในโลก แต่ประเด็นร้อนแรงในประเทศไทย โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ตและพังงาที่ไม่พูดถึงไม่ได้แล้วก็คือเรื่องปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและลุกลาม นั่นหมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติใน ภูเก็ต พังงากำลังจะหมดลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับกระแสการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างไร้ทิศทางและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างล้างผลาญ

            กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เป็นเจ้าภาพหลักจัดเวทีสาธารณะ “สืบสานสำนึกสาธารณะ รักษ์ป่า รักษ์ทะเลอันดามัน”

DSI กระทรวงยุติธรรม เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสนใจและลงมือปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้ที่ดินที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูเก็ต พังงา อย่างเอาจริงเอาจังร่วมกับองค์กรชาวบ้านในพื้นที่

            เหตุที่พูดเช่นนี้เพราะสะดุดหูคำพูดของ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่บอกว่า “เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องของทุกคน ที่ดินถือเป็นปัจจัยหนึ่งของความมั่นคงสิ่งที่ผมเองได้มีประสบการณ์ในการทำคดีเกี่ยวกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การบุกรุกที่ดินของรัฐ การโดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์และจังหวัดอื่นๆ ในวันนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้น น่าจะถึงเวลาที่จะ ปฏิรูปโครงสร้างกันใหม่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจะเห็นว่าบริษัทหรือกลุ่มทุนใช้เงินจำนวนมหาศาลไปจ้างทนายความ ใช้เงินจำนวนมากในการไปให้ที่ปรึกษา บางครั้งก็ใช้เงินอีกจำนวนหนึ่งให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคู่กรณีก็คือประชาชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ละเมิดไม่ได้ ถึงเวลาหรือยังว่าทรัพยากรธรรมชาติจะต้องละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะเกาะยาว หรือท่าเรือ หรือที่ไหน...”

            ฟังแล้วแอบอมยิ้มและดีใจไม่ได้...แต่ในสถานการณ์ในพื้นที่จริงๆ ประชาชนกลับถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกหย่อมหญ้า การบุกรุกป่าไม้และที่ดินทั้งของรัฐและประชาชนในพื้นที่เกิดขึ้นวันต่อวัน และนี่เป็นคำให้การคำต่อคำบนเวทีสาธารณะในวันนั้น

นายสุทา ประทีป ณ ถลาง เป็นตัวแทนภาคประชาชน จ.ภูเก็ต แต่เรามักจะรู้จักในนามตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านหรือเครือข่ายแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดิน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า “กรณีปัญหาการบุกรุกที่ดินในและทำลายสิ่งแวดล้อมใน จ.ภูเก็ต ที่กำลังเกิดขึ้นมากมาย เช่น กรณีเกาะราชาที่เพิ่งไปแจ้งความกับตำรวจในวันพ่อที่ผ่านมา เพราะทำลายปะการังเสียหาย และคณะกรรมาธิการไปตรวจสอบ แต่ผู้กระทำผิดก็ไม่รับผิด ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต ยังดำรงอยู่เรื่อยๆ ในส่วนหนึ่งบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต เชื่อว่าส่วนใหญ่ทำเพื่อผลประโยชน์ไม่ได้เอาหลักวิชาการมาศึกษาอย่างแท้จริง เช่น ลงทุนถอนหญ้าทะเลที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และทำรายงาน ว่าไม่มีหญ้าทะเล แบบนี้ก็มีในจังหวัดภูเก็ตมาก หรือกรณีรายงานผลกระทบสร้างเขื่อนสร้างมารีน่าจะมีการกัดเซาะ แต่ก็ยังยืนยันว่าไม่มีการกัดเซาะ ถึงที่สุดก็กัดเซาะชายฝั่ง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นใครจะรับผิดชอบ ถ้าไม่มีการแก้ไขให้ชัดเจนตรงนี้ จะเกิดปัญหาซ้ำซาก”

            สิ่งที่นายสุทาพูดถึง เป็นการสะท้อนภาพการละเมิดสิทธิชุมชนได้อย่างชัดเจนและเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ จนเป็นภาพที่ชินตา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในความโหดร้ายจะไม่มีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่

                                                                                                โปรดติดตามตอนต่อไป

สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: