สถานการณ์ทรัพยากรประมงของประเทศไทย
ผลผลิตทางการประมงในน่านน้ำไทยช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๒) มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ ๖.๖ ต่อปี จากที่เคยจับได้ในปี ๒๕๓๘ ปริมาณ ๑.๙๒ ล้านตัน เหลือ ๑.๔๒ ล้านตันในปี ๒๕๔๒ ลดลง
ทั้งจากการทำประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ซึ่งผลผลิตช่วงดังกล่าวร้อยละ ๙๑ ได้จากประมงพาณิชย์ที่เหลือได้จากประมงพื้นบ้าน โดยเป็นผลผลิตที่ได้จากอ่าวไทยร้อยละ ๖๓ ที่เหลือได้จากทะเลอันดามัน องค์ประกอบของสัตว์ทะเลที่จับได้จาก ประมงพาณิชย์เป็นปลาที่ใช้บริโภคร้อยละ ๕๕ รองลงมาเป็นปลาเป็ดร้อยละ ๓๔ (ซึ่งเป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจปนอยู่มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนปลาเป็ดทั้งหมด) ปลาหมึกร้อยละ๕ กุ้งร้อยละ ๕ ที่เหลือเป็นปูและหอยอีกร้อยละ ๑ ส่วนการทำประมงในแหล่งน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นการทำแบบประมงพื้นบ้าน มีผลผลิตประมาณปีละ ๒๑๕,๐๐๐ ตัน ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ผลผลิตการประมงนอกน่านน้ำมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะทะเลไทยเกิดวิกฤตแล้ว ปัจจุบันมีเรือไทยประมาณ ๔,๒๐๐ ลำ ทำการประมงอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า บรูไน กัมพูชา เวียดนาม เยเมน อินเดีย และบังคลาเทศ ผลผลิตจากการประมงนอกน่านน้ำ ๕ ปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๒) มีปริมาณเพิ่มร้อยละ ๑๐ ต่อปี โดยมีผลผลิต ๐.๙ ล้านตันในปี ๒๕๓๘ เพิ่มขึ้นเป็น ๑.๓ ล้านตันในปี ๒๕๔๒ แสดงให้เห็นว่า คนไทยบริโภคปลาและสัตว์น้ำที่จับได้จากประเทศเพื่อนบ้านมาไม่น้อยกว่า 8 ปี ส่วนปลาและทรัพยากรประมง ในทะเลไทยยังคงอยู่ในสภาวะวิกฤต
จากสถิติการประมงของกรมประมง แสดงให้เห็นสถานภาพของทรัพยากรประมงในน่านน้ำทะเลไทยเสื่อมโทรมลงผลผลิตที่ได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ การลดลงของทรัพยากรประมง ไม่ใช้เกิดจากการนำเอาสัตว์น้ำขึ้นมา ใช้มากเกินไปเท่านั้น แต่ยังมีการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรชายฝั่ง เช่น แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง และดอนหอย ยกตัวอย่างเช่น อวนลาก อวนรุน เรือไฟปั่นปลากะตัก ซึ่งวิธีการทำประมงดังกล่าว เป็นการทำลายระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสื่อมโทรมของทะเลไทยให้ทรุดหนักยิ่งขึ้น
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๓๘ ระบุว่ามีเรือประมงถึง ๕๐,๐๐๐ ลำ เป็นเรืออวนลากจำนวนครึ่งหนึ่งและมีขนาดตาอวนที่ถี่มากเกินไป สามารถจับสัตว์น้ำได้ทุกขนาด แม้ว่าจะเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก หรือลูกสัตว์น้ำที่ยังโตไม่ได้ขนาด ลักษณะเช่นนี้เป็นการทำประมงแบบนี้เป็นทำลายล้าง และใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าศักยภาพการผลิตของท้องทะเล ปัญหานี้เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จาก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในการใช้ทรัพยากรประมงระหว่างกลุ่มประมงพาณิชย์กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ทรัพยากรประมงทะเลยังถูกคุกคามทั้งทางตรงและ ทางอ้อมจากโครงการพัฒนาอื่น ๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม การเกษตร การท่องเที่ยว การขยายตัวของชุมชน เป็นต้น ซึ่งส่งผลทำให้คุณภาพน้ำและ
สิ่งแวดล้อม ชายฝั่งเสื่อมโทรม ไม่เหมาะต่อการดำรงอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จากการพัฒนาทางการประมงอย่างรวดเร็ว ผลผลิตส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทางด้านอุตสาหกรรม แปรรูปเพื่อการส่งออก แม้ทรัพยากร
ทางทะเลของประเทศจะอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม แต่ความต้องการวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกกลับสูงขึ้น รัฐจึงหันมาผลักดันให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการส่งเสริมการทำประมงนอกน่าน
น้ำและพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงชายฝั่งโดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งกุลาดำซึ่งประสบผลสำเร็จสูงในช่วงแรก แต่ปัจจุบันก็ประสบปัญหาเรื่องโรคต่างๆ นอกจากนี้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำรวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งชนิดอื่น ๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาการใช้พื้นที่ดินผิดประเภท การบุกรุกป่าชายเลน ปัญหาดินเค็ม อาหารและยา/สารเคมีที่ใช้เพื่อการ เพาะเลี้ยงและปัญหาปล่อยน้ำเสียที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศชายฝั่งในระยะยาว หากไม่มีการจัดการและการตรวจสอบที่ดี
ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง
ทรัพยากรชายฝั่งนับเป็นเสมือนแหล่งต้นทุนที่สำคัญของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งได้แก่ ป่าชายเลน, แหล่งหญ้าทะเล, ดงสาหร่าย, แนวปะการัง และดอนหอยทรัพยากรเหล่านี้มักจะถูกทำลายลงจากกิจกรรมการ พัฒนาต่างๆ ที่ถูกกำหนดมาโดยฝ่ายนโยบายของรัฐ ที่ขาดทั้งความรู้ ความเข้าใจในเรื่องระบบนิเวศชายฝั่ง ยกตัวอย่าง เช่น การสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ ที่บริเวณเกาะสมุย ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำเป็นเหตุ ให้มีการทับถมของตะกอนทรายบริเวณแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญของเกาะสมุย เป็นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และ แหล่งอนุบาลของลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของอ่าวไทย และจะนำวิกฤตการณ์มาสู่ของทะเล ไทย
ในการสำรวจป่าชายเลนโดยกรมป่าไม้ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ พบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ ๒,๓๐๐,๐๐๐ ไร่ และปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนเหลืออยู่ไม่ถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ ไร่แสดงให้เห็นว่าการจัดการทรัพยากรโดย หน่วยงานของรัฐที่ผ่านมาล้มเหลวมาตลอด เพราะรัฐพยายามปฏิเสธที่จะให้ชาวบ้านหรือ คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและจัดการทรัพยากร มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับการรักษาป่าชายเลนในหลายๆ พื้นที่ที่ได้รับการ พิสูจน์แล้วว่าชุมชนชาวประมงพื้นบ้านสามารถจัดการทรัพยากรป่าชายเลนได้อย่างยั่งยืน แหล่งหญ้าทะเล สาหร่ายทะเล และแนวปะการังเป็นแหล่งอนุบาลลูกสัตว์น้ำที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันรัฐเองก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เกี่ยวกับพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลของประเทศว่ามีที่ไหนบ้าง สถานภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ที่ใดถูกทำลายไปหมดแล้วบ้าง แล้วรัฐจะการจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้มันหมดไป แนวปะการังนับเป็นทรัพยากรที่รัฐให้ความ สำคัญมาก เพราะสามารถสร้างได้อย่างมหาศาลเข้าประเทศจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีการทำลายแนวปะการังในหลายๆ พื้นที่ จากนักท่องเที่ยว จากเรือประมงพาณิชย์ (อวนลาก)
แนวคิดของรัฐจะให้ความสำคัญกับกองเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่
ที่นำเอาทรัพยากรประมงซึ่งถือเป็นสาธารณสมบัติของคนทั้งประเทศขึ้นมาขาย สามารถทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลนั้น แต่ผลประโยชน์ที่ได้จริงๆ ก็ตกอยู่ที่ผู้ประกอบการเจ้าของเรือเพียงกลุ่มเดียว มีการกระจายรายได้น้อย ลูกจ้างก็ได้รับผลประโยชน์น้อย แต่การทำประมงแบบพื้นบ้านนั้น เป็นแหล่งสำคัญของการสร้างงานและผลิตอาหารโปรตีนในปริมาณ มหาศาลให้แก่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ชาวประมงพื้นบ้านดำรงชีพพึ่งพิงทรัพยากรเพื่อการอยู่รอด จึงสร้างความมั่นคงด้านอาหาร แก่ผู้ใช้ทรัพยากรและยังรวมถึงวิธีการควบคุมการใช้ประโยชน์ การแบ่งสรรปันส่วน ประโยชน์ที่ได้ภายในชุมชน เป็นการกระจายรายได้สู่คนในชุมชน ซึ่งตรงกันข้ามกับเรือประมงพาณิชย์ เปรียบเทียบเรืออวนลาก ๑ ลำราคา ๑๐ ล้านบาท เทียบได้กับเรือประมงพื้นบ้าน ๒๐๐ ลำ แต่อวนลาก ๑ ลำเลี้ยงคนได้ ๑๐ ครอบครัว แต่ประมงพื้นบ้านเลี้ยงคนได้ ๒๐๐ ครอบครัว นี่คือการกระจายรายได้ที่แตกต่าง |