ปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน และแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้
1. ข้อมูลพื้นฐานชาวประมงพื้นบ้าน
ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว ๒,๖๐๐ กม. ประมาณ ๑,๗๐๐ (ร้อยละ ๖๕) อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ สำมะโนประมงปี ๒๕๔๓ ระบุว่ามีชุมชนชาวประมงทั่วประเทศ ๓,๗๙๗ ชุมชน มีครัวเรือนที่ทำประมง อย่างเดียว ๕๖,๘๕๙ ครัวเรือน (ประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ คน) มีเรือประมง ๕๘,๐๐๑ ลำ
การจำแนกชาวประมงจำแนกด้วยเครื่องมือที่ถือครอง
- ชาวประมงพื้นบ้านในที่นี้ หมายถึง ชาวประมงที่ไม่มีเรือประมงและชาวประมงที่เรือประมง ใช้เครื่องยนต์นอกเรือ(เรือหางยาว) นอกเหนือจากนี้ถือเป็นชาวประมงพาณิชย์
- ชาวประมงพาณิชย์หรือชาวประมงขนาดใหญ่มีประมาณร้อยละ ๑๐ ของชาวประมงทั้งหมด ที่เหลือเป็นชาวประมงขนาดเล็กหรือ ชาวประมงพื้นบ้าน
2. ปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน
ชาวประมงพื้นบ้านมีปัญหาที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมง คือ กุ้งปลาในทะเล ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบถึงรายได้และการดำรงชีพทางด้านต่างๆ
ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงเกิดจาก
- สาเหตุสำคัญที่สุดคือ การใช้เครื่องมือทำลายล้างนานาชนิด เช่น อวนรุน อวนลาก เรือไฟปั่นปลากะตัก และการระเบิดปลา
- การปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน ชุมชน และนากุ้งลงทะเล
- การทำลายป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งเพาะฟักสัตว์น้ำตามธรรมชาติ เมื่อสัตว์น้ำลดลงชาวประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลง รายได้ลด เกิดผลสืบเนื่องคือ
- ต้องกู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้าสัตว์น้ำในหมู่บ้าน(แพปลา)แล้วเอาสัตว์น้ำมาขาย ชดใช้หนี้ ทำให้ขายได้ราคาต่ำ บางคนเป็นหนี้ยาวนานหลายสิบปี ไถ่ถอน ไม่หมดเพราะจับสัตว์น้ำไม่พอใช้หนี้
- เกิดการอพยพแรงงานเข้าไปทำงานในเมือง เกิดเป็นชุมชนแออัดขึ้นในเมือง บางจังหวัดชายแดนอพยพไปทำงานต่างประเทศ(มาเลเซีย) หรือลักลอบไปทำประมงในเขตประเทศพม่า
- ชาวประมงขาดแคลนอาหารเพื่อการบริโภค
3. การแก้ไขปัญหาของชาวประมงในเครือข่ายสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน
การแก้ปัญหา ชาวประมงจึงต้องแก้ที่สาเหตุที่ทำให้สัตว์น้ำลดลง
ตั้งแต่ประมาณปี๒๕๓๐ เป็นต้นมาได้ทำกิจกรรมดังนี้
- จัดทำเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ เป็นต้นมา ปัจจุบันมี ๒๒ เขต พื้นที่กว่า ๑๕,๐๐๐ ไร่
- จัดทำปะการังเทียมแบบทั่วไปและแบบพื้นบ้านในเขตชายฝั่งอ่าวไทย เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
- ตามกฎหมายประมงปัจจุบัน ห้ามเครื่องมือทำลายล้างชนิดต่างๆ ทำการประมงในเขต ๓,๐๐๐เมตร แต่มีการฝ่าฝืนอยู่ทั่วไป ชาวประมงได้รวมกลุ่มกันออกปราบปรามเครื่องมือประมงเหล่านั้นในเขต ๓,๐๐๐ เมตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้หลายพื้นที่ปัญหาทุเลาเบาบางลง สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลายพื้นที่ปัญหายังมีมากอยู่
- รณรงค์ให้ชาวประมงที่ใช้อวนรุนเลิกใช้เครื่องมือนั้น หันมาใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายแทน
- จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน สะสมเงินและเป็นแหล่งทุนสำหรับการประกอบอาชีพ ใช้ดอกผลมาสร้างสวัสดิการชุมชน ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์ในเครือข่ายสมาพันธ์ฯไม่น้อยกว่า ๕๐ กลุ่ม มีเงินสะสมไม่น้อยกว่า ๓๐ ล้านบาท สมาชิกไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ คน
- อนุรักษ์ป่าชายเลนโดยจัดการในรูปป่าชายเลนชุมชน ประมาณ ๑๕ ป่า พื้นที่ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่
- ส่งเสริมธุรกิจชุมชนต่างๆ เช่นการแปรรูปสัตว์น้ำ ทำกะปิ รวมกลุ่มทำตลาดสัตว์น้ำ ทำน้ำปลา ทำธุรกิจเครื่องมือประมง ฯลฯ
- รณรงค์เพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบยั่งยืน เช่น ให้ยกเลิกเครื่องมือทำลายล้างชนิดต่างๆ เช่น อวนรุน เรือไฟปั่นปลากะตัก ให้ออกพรบ.ป่าชุมชน ขยายเขตอ่าวพังงา เป็นต้น
4. สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
เป็นองค์กรเครือข่ายของชาวประมงพื้นบ้านในภาคใต้ จัดตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๓๖ สมาชิกของ สมาพันธ์ฯคือ กลุ่มชมรมชาวประมงในพื้นที่ต่างๆของ ๑๓ จังหวัดภาคใต้ (ยกเว้นยะลาซึ่งไม่มีพื้นที่ติดทะเล)ปัจจุบันมี องค์กรสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑๕ กลุ่ม/ชมรม เช่น สมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา ชมรม- ชาวประมงพื้นบ้านเกาะยาวน้อย ชมรมชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี เป็นต้น
คณะกรรมการของสมาพันธ์ฯจะมาจากผู้แทนแต่ละจังหวัด ซึ่งจะประชุมปรึกษาหารือถึงกิจการต่างๆของสมาพันธ์ฯอย่างสม่ำเสมอ
5. สาเหตุที่การแก้ปัญหาชาวประมงยังไม่บรรลุผล
แม้ว่าเครือช่ายชาวประมงภาคใต้จะผลักดันให้มีการ แก้ปัญหาของชาวประมงมากว่าหนึ่งทศวรรษ แต่หลายพื้นที่ปัญหาก็ไมได้ทุเลาเบาบางลงหรือกลับทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เพราะว่า
- เครื่องมือทำลายล้าง ชนิดต่างๆยังไม่มีการยกเลิก ให้ทำได้นอกเขต ๓,๐๐๐ เมตร แต่ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามควบคุมได้เพราะพื้นที่กว้างขวางมาก (๒,๖๐๐ กม. x ๓ กม. เท่ากับ ๗,๘๐๐ ตารางกิโลเมตรหรือ ๔.๘ ล้านไร่)
- เจ้าหน้าที่ในกระบวนยุติธรรมบางคนทุจริต รับเงินจากเรือประมงที่ทำผิดกฎหมาย ไม่จับกุมผู้กระทำผิด ถ้าจับก็เสนอลงโทษน้อยที่สุด ทำให้มีการละเมิดกฎหมายอยู่ทั่วไป
- กฎหมายไม่เอื้อกับการที่ชาวประมงจะจัดการทรัพยากร เช่น ไม่มีกฎหมายป่าชุมชนที่ให้อำนาจชาวบ้านจัดการอนุรักษ์ป่าชายเลน กฎหมายประมงรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่ ส่วนกลางไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และประชาชนในการจัดการทรัพยากร
- เครื่องมือทำลายล้างเปลี่ยนแปลงไปเป็นชนิดต่างๆได้ง่าย กฎระเบียบที่มีอยู่(และส่วนกลางเป็นคนกำหนด) ตามไม่ทันพัฒนาการเหล่านั้น แก้ปัญหาไม่ได้
- สังคมยังไม่ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารราคาถูกของประเทศ ไม่เข้าใจและไม่สนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านในการรณรงค์เพื่อการ จัดการทรัพยากรทะเลที่ยั่งยืน
- รัฐไม่มีนโยบายลดเครื่องมือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวทำลายทรัพยากรทางทะเลและไม่กล้าจัดการปัญหาที่กระทบกระเทือนกับประมงพาณิชย์ เพราะเป็นฐานเสียงและ ฐานเงินของพรรคการเมืองต่างๆ
- รัฐจัดทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับทรัพยากรทางทะเลขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล การใช้พื้นที่ป่าชายเลน การสร้างเขื่อน กั้นทะเลสาบ เป็นต้น
6. ข้อเสนอของชาวประมงพื้นบ้านต่อรัฐบาลที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
6.1 การกำหนดเขตการประมง เขตฤดูปลาวางไข่และเขตรักษาพันธุ์พืช จากสถานการณ์ผลผลิตจากการทำประมงลดลง แสดงให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างรุนแรง จึงจำเป็นจะต้องมีการกำหนดเขตการประมง เขตฤดูปลาวางไข่ และ เขตรักษาพันธุ์พืชเหล่านี้ใหม่ เพื่อเป็นการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน โดยอนุกรรมการแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้านและการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ตามมติครม. เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๔
6.2 ข้อเสนอจากชาวประมงทะเลสาบสงขลา
- ยกเลิกโครงการเขื่อนกั้นทะเลสาบสงขลา เพราะจะทำลายแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ โดยยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๐ ที่อนุมัติโครงการนี้
- จัดสรรงบประมาณโครงการทดลองขุดลอกร่องน้ำกลางทะเลสาบที่ตื้นเขินในพื้นที่ทะเลน้อยและเขตห้าล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา
- จัดสรรงบประมาณเพื่อขุดลอกทะเลน้อย ซึ่งตื้นเขินและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างมาก
- จัดสรรงบประมาณสนับสนุนแผนฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑
6.3 การจัดการป่าชายเลนชุมชน
ป่าชายเลนชุมชนจะหมดสัมปทานในปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ชาวประมงพื้นบ้านมีประสบการณ์ในการจัดการป่าชายเลนชุมชนมาแล้วประมาณ ๑๐ ปี สมาพันธ์ฯเสนอให้มีการ
- สนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้หยุดทำไม้ป่าชายเลนและการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าชายเลนทันทีเมื่อสิ้นอายุ
- จัดสัมมนาหาทางออกเกี่ยวกับการจัดการป่า ภายในปี ๒๕๔๔ เพื่อวางแผนการจัดการป่าในระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า โดยมีแนวความคิดเบื้องต้นว่า พื้นที่ป่าชายเลนประมาณร้อยละ ๕๐ (ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ไร่) ให้จัดการโดยชุมชนมีส่วนร่วม อีก ๕๐๐,๐๐๐ ไร่ ให้กรมป่าไม้ จัดการในรูปป่าอนุรักษ์
- เร่งรัดออกพรบ.ป่าชุมชนซึ่งอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรองรับการจัดการป่าของชาวบ้าน
6.4 ปัญหาการทำประมงในอุทยานทางทะเล
ทางราชการประกาศอุทยานทางทะเลหลายแห่งในพื้นที่ทำการประมงของชาวบ้านตามกฎหมายประมง ชาวประมงพื้นบ้านทำประมงได้ในเขต ๓,๐๐๐ จากชายฝั่ง แต่ตามกฎหมายอุทยานฯ การทำประมงในเขต อุทยานฯด้วยเครื่องมือทุกชนิดผิดกฎหมาย ปัจจุบันครม.อนุมัติให้มีการผ่อนผันการจับกุม สมาพันธ์ฯเสนอให้มีการแก้ไขพรบ.อุทยานแห่งชาติ ๒๕๐๔ อนุญาตให้มีการทำการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติได้ ถ้าเครื่อง มือประมงที่ใช้ไม่ใช่เครื่องมือต้องห้ามตามกฎหมายประมง
6.5 การแก้ปัญหาอวนรุน
อวนรุนเป็นเครื่องมือทำลายล้างทรัพยากร เพราะจับสัตว์น้ำไม่ได้ขนาดประมาณร้อยละ ๕๐-๖๐ ของสัตว์น้ำทั้งหมด เปรียบเสมือนรถแทรกเตอร์ที่ไถทะเล ในแผนฯ ๘ (สิ้นสุดกันยายน ๒๕๔๔) กำหนดให้ยกเลิกการ ใช้เครื่องมือชนิดนี้ แต่มีความคืบหน้าเรื่องนี้น้อยมาก มีโครงการนำร่องยกเลิกเครื่องมือชนิดนี้ที่ จ.ปัตตานี (ประกาศกระทรวงเกษตรฯ มีผลบังคับใช้พฤษภาคม ๒๕๔๑) แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนักสมาพันธ์ฯ เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศยกเลิกการใช้เครื่องมืออวนรุนโดยมีทางเลือกต่างๆ คือ
- งดออกอาชญาบัตรอวนรุนในปี ๒๕๔๔
- ยกเลิกทั้งประเทศและให้มีผลบังคับใช้ภายในปี ๒๕๔๔ ตามแผนฯ ๘
- ยกเลิกบางจังหวัดที่ประเมินแล้วว่าสามารถผลักดันมาตรการร่วมอื่นๆให้มีผลในทางปฏิบัติได้
- ออกประกาศยกเลิกทันทีในทุกจังหวัดแต่ให้มีผลบังคับใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสม
6.6 เรือไฟปั่นปลากะตัก
เรือจับปลากะตักกลางวันเป็นเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบกับทรัพยากรสัตว์น้ำน้อย เพราะจับปลากะตักได้มากติดสัตว์น้ำอื่นน้อย แต่เรือที่ทำประมงกลางคืนจับติดสัตว์น้ำอื่นๆมาก ส่งผลกระทบกับ การทำมาหากิน ของชาวประมงพื้นบ้านอย่างหนัก จนมีการประท้วงคัดค้านเครื่องมือชนิดนี้อย่างกว้างขวางระหว่างปี ๒๕๓๘-๒๕๔๒ เรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องมือชนิดนี้ (เรือกลางวันยังทำได้) คณะกรรมการประมงแห่งชาติมีมติ ให้ทำประมงชนิดนี้ต่อไปนอกเขต ๓ ไมล์ทะเล (ประมาณ ๕ กม.) จากชายฝั่ง แต่ช่วงเปลี่ยน รัฐบาล รัฐมนตรีช่วยฯเกษตรนายอนุรักษ์ จุรีมาศ ลักไก่ออกประกาศให้เรือไฟปั่นปลากะตักทำประมงได้นอกเขต ๓,๐๐๐ เมตร และทำได้รอบเกาะเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๓ ประกาศนี้ยังมีผลบังคับใช้จนปัจจุบัน ทั้งๆที่ขัดกับมติของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้เสนอให้
- กระทรวงเกษตรฯออกประกาศยกเลิกประกาศดังกล่าวทันที และออกประกาศฉบับใหม่ ห้ามใช้เครื่องมืออวนขนาดช่องตาเล็กกว่า ๒.๕ ซม.ประกอบไฟปั่นจับปลากะตักในทุกจังหวัด(เนื้อหาตามประกาศกระทรวงฯวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖)
- ให้มีการศึกษาผลกระทบของการจับปลากะตักด้วยเรือไฟปั่นโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนำไปสู่การยกเลิกการใช้เครื่องมือชนิดนี้
6.7 การปฎิรูปกฎหมายประมงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การประมงของไทยในปัจจุบัน ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมและเครื่องมือการประมงที่พัฒนาขึ้น ดังนั้นจึงควรให้มีการปฏิรูปกฎหมายประมงเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๔
6.8 ปัญหาป่าชายเลนบ้านบางลา ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
สนับสนุนการจัดทำป่าชายเลนชุมชนและอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าชายเลน (ป่าถาวร ตามมติครม.) จำนวนประมาณ ๔ ไร่ เพื่อการจัดทำศูนย์การศึกษาเรียนรู้ชุมชน
7. ข้อคิด/ประสบการณ์ที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาประมง
- ทรัพยากรประมงจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วถ้าไม่มีเครื่องมือทำลายล้าง ภายในระยะเวลา ๓-๖ เดือน กุ้งปลาจะสมบูรณ์อีกครั้งถ้าปราบปรามเครื่องมือผิดกฎหมายได้ผล
- ในระยะ ๕ ปีที่ผ่านมาการสำรวจสำมะโนประมงเปรียบเทียบ พบว่าจำนวนชาวประมงขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ยังไม่มีการศึกษาสาเหตุที่แน่ชัด อาจเป็นไปได้สองกรณี คือ พื้นที่หลายแห่งโดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน และ ทะเลสาบสงขลาซึ่งกลุ่มชาวบ้านทำงานอนุรักษ์ได้ผล ทรัพยากรฟื้นตัว คนที่อพยพยออกนอกชุมชนกลับมาทำงานประมงมากขึ้น เพราะรายได้ดีกว่าทำงานในเมือง เหตุผลที่สองคือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนไม่มีทางออก กลับมาทำงานประมงมากขึ้น
- มีการศึกษาพบว่าชาวประมงยิ่งยากจนยิ่งมีหนี้สินน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเพราะไม่มีเครดิตในการกู้เงิน และเครื่องมือที่ใช้มีราคาไม่แพง ไม่ต้องกู้เงินจำนวนมาก
- มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาอวนรุนด้วยการเปลี่ยนเครื่องมือ โดยรัฐออกทุนให้ แต่พบว่าในบางพื้นที่ชาวประมงอวนรุนเอาเครื่องมือใหม่ไปขายแล้วกลับมาทำอวนรุนอีก หรือเอาเงินไปเสริมเครื่องมืออวนรุนให้ แข็งแรงกว่าเดิม สาเหตุน่าจะเป็นเพราะไม่ได้มีการทำงานสร้าง จิตสำนึกควบคู่กันไปด้วย
|