ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกับวิกฤต
ชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็ก เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ตามริมชายฝั่งทะเลหรือตามริมคลอง แม่น้ำต่างๆ มีทั้งที่ใช้เรือและไม่ใช้เรือเป็นพาหนะ หากินอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเล หากใช้เรือก็จะเป็นเรือหางยาว
หรือเรือกอและ เรือท้ายตัด ตั้งแต่ไม่มีเครื่องยนต์จนถึงมีเครื่องยนต์ขนาด ๑ - ๗ แรงม้า และใช้เครื่องมือประมงแบบพื้นบ้านที่มีลักษณะเรียบง่าย สามารถเลือกจับสัตว์น้ำได้เฉพาะชนิด เช่น อวนลอยปลา อวนลอยกุ้ง
อวนจมปู แห เบ็ด ลอบ ไซ เป็นต้น
จากกจากการสำรวจสำมะโนประมงทะเลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมประมง เมื่อปี ๒๕๓๘ มีครัวเรือนที่ทำการประมงขนาดเล็กร้อยละ ๘๙.๗ ของครัวเรือนประมงทั้งหมด หรือประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ คน
จากจำนวนสมาชิกในครัวเรือนประมงทั้งประเทศที่มีอยู่ ๕๓๕,๒๑๐ คน การทำประมงพื้นบ้านนั้น ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักและเป็นการประมงเพื่อยังชีพ ซึ่งจะแตกต่างจากการประมงพาณิชย์ที่ทำการประมง
เพื่อแสวงหากำไร แต่ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีประมาณร้อยละ ๘๐ ของประชากรประมงทะเลทั้งหมดของประเทศไทย เป็นผู้ที่ต้องมีชีวิตอย่างยากไร้ ขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปัญหาใหญ่ก็เนื่องมาจาก
ความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรทางทะเลลดลงไป เพราะถูกกระทำจากหน่วยงานของรัฐและ เรือประมงพาณิชย์ที่เข้ามากอบโกยทรัพยากรไป
องค์กรชาวประมงพื้นบ้าน กับการจัดการทรัพยากร
องค์กรชาวประมงพื้นบ้านเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการรักษาทรัพยากรชายฝั่ง และให้มีการใช้ทรัพยากรประมงร่วมกันอย่างยั่งยืน มิได้มีเป้าหมายเพื่อครอบครองสิทธิเหนือทะเลในการทำการประมงแต่อย่างใด ในความเป็นจริงแล้วชาวประมงพื้นบ้าน ทำมาหากินโดยใช้เรือขนาดเล็กและใช้เครื่องมือแบบ เรียบง่ายเลือกจับสัตว์น้ำเฉพาะอย่าง ชาวประมงพื้นบ้านต้องอาศัยทรัพยากรเพื่อการอยู่รอด ระบบทำ
การประมงพื้นบ้านจึงช่วยสร้างความมั่นคงแก่ผู้ใช้ทรัพยากร และมีการควบคุมการใช้ประโยชน์ รวมถึงมีการแบ่งสรรปันส่วนประโยชน์ที่ได้ภายในชุมชน โดยอาศัยภูมิปัญญาที่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี
ของชุมชน ซึ่งกลายเป็นกฎกติกาในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน
องค์กรของชาวประมงพื้นบ้านหลายแห่ง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรชายฝั่ง โดยการสำนึกถึงระบบคุณค่าของทรัพยากรประมงที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน หากไม่มีการดูแลรักษาไว้ ทุนสำรองชิ้นสุดท้าย
ที่ชุมชนมีอยู่ก็จะไม่เหลือ และนำไปสู่ความล่มสลายของชุมชนในอนาคต การจัดการด้านการประมงนั้นเป็นการจัดการที่เกี่ยวข้องกับคนด้วยไม่ใช่ปลาอย่างเดียว การใช้เฉพาะความรู้ทางด้านชีววิทยาจึงไม่เพียงพอ
จะต้องให้ความสำคัญกับมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ชาวประมงพื้นบ้านนั้นจะมีความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ การสังเกต การถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ
ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำและความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของรัฐที่เกิดขึ้น มักจะถูกกล่าวอ้างตลอดเวลาว่าเป็นปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมง
ขนาดใหญ่ ซึ่งแท้ที่จริงก็คือการที่ทรัพยากรของส่วนรวมถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย(คนรวย) โดยอ้างเหตุผลของการพัฒนา (ประเทศ) ในขณะที่ชาวบ้านและประชาชนส่วนใหญ่กลับถูกปิดกั้นสิทธิที่
จะเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมมากขึ้น
การหยุดยั้งเครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง : อวนรุน
มูลเหตุแห่งการเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทยมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญและกำลังสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรก็คือการใช้เครื่องมือประมง ที่ทำลายล้างมากอบโกยทรัพยากรของส่วนรวมไป
เครื่องมือที่ทำลายล้างที่สำคัญได้แก่ อวนรุน อวนลาก เรือไฟปั่นปลากะตัก
อวนรุน เป็นเครื่องมือประมงที่พัฒนามาจากระวะซึ่งทำการประมงโดยไสหรือรุน คันรุนพร้อมถุงอวนไปข้างหน้าโดยอาศัยแรงคนเพื่อจับสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่ง เช่น กุ้งเคย กุ้ง ปู ปลา ต่อมาภายหลังได้มีการพัฒนา
เครื่องมือนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์แทนกำลังคน สันนิษฐานว่าอวนรุนน่าจะเริ่มเกิดขึ้นราวๆ ปี พ.ศ.๒๕๑๐ แต่ก็ยังมีไม่มากนักทั้งนี้เพราะอวนรุนจับปลาเป็ดได้มากและตลาดมีจำกัดประกอบกับสัตว์น้ำ
ยังมีราคาถูก จึงไม่คุ้มทุน จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ที่เริ่มมีโรงงานปลาป่นเกิดขึ้น ทำให้ปลาเป็ดมีราคาจำนวนเรืออวนรุนจึงเพิ่มขึ้น
ในประเทศไทย เรืออวนรุนเริ่มจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีเรืออวนรุนที่จดทะเบียนรวม ๓๕๔ ลำแล้วเพิ่มเป็นประมาณ ๔,๐๐๐ ลำในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และเป็นอวนรุนชนิดที่มีเครื่องยนต์ในเรือ ๑,๑๔๒ ลำ
เรือแบบดังกล่าวมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนเรืออวนรุนขนาดเล็ก คันรุนมีความยาวอยู่ในช่วง ๖ - ๑๕ เมตร เรืออวนรุนขนาดใหญ่ คันรุนมีความยาวอยู่ในช่วง ๒๘ - ๔๔ เมตร ขนาดตาอวนก้นถุงอยู่ในช่วง
๐.๕ - ๑.๕ เซนติเมตร เรืออวนรุนพบในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี ตรัง สตูล และปัตตานี เป็นต้น สัตว์น้ำที่จับได้โดยเรืออวนรุน มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
โดยทั่วไปจะพบ ๒ กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กุ้ง ซึ่งจะจับได้ในปริมาณ ร้อยละ ๔๐ - ๔๕ ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมด อีกกลุ่มคือปลาเป็ด มีประมาณร้อยละ ๖๐ ของปริมาณที่จับได้ทั้งหมด
ซึ่งประกอบด้วยลูกปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ลูกปลาหลังเขียว ลูกปูม้า ลูกปลาจวด ประมาณร้อยละ ๖๕ - ๗๐ ของปริมาณปลาเป็ดที่จับได้ ที่เหลือประมาณร้อยละ ๓๐ - ๓๕ เป็นปลาเป็ดแท้ๆ มีการประมาณการว่า
ในปีหนึ่งสัตว์น้ำที่จับได้จากอวนรุน ทุกขนาดมีประมาณ ๒๖,๒๘๙ ตัน ประกอบด้วยกุ้งใหญ่ ร้อยละ ๑๕ - ๑๖ ปูม้าร้อยละ ๘ - ๙ ปลาร้อยละ ๗ ปลาหมึกร้อยละ ๔ - ๕ นอกนั้นเป็นสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
อวนรุนเป็นเครื่องมือ
ประมงชนิดหนึ่งที่จัดได้ว่าทำลายทรัพยากรค่อนข้างสูง เพราะมีสัดส่วนของลูกปลาเศรษฐกิจขนาดเล็กที่ปนอยู่ในกลุ่มปลาเป็ดสูงถึงร้อยะ ๖๕ - ๗๐ นอกจากนี้จำนวนเรืออวนรุนยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และได้มีการ ร้องเรียนจากประชาชนเป็นอันมาก ในส่วนของการกระทำผิดกฎหมายโดยทำการประมงในเขต 3,000 เมตร
ผลกระทบของเรืออวนรุนจึงมีทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค จากการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจาก ความเสื่อมโทรมของทะเลกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในด้านต่างๆ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความอยู่รอดของ
ชุมชนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด กับทรัพยากรในท้องทะเล การทำลาย ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลที่เกิดจากการใช้เครื่องมือประมงอวนรุน จึงก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิตและ
ความอยู่รอดของชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ผลกระทบนี้จะเหมือนกับฝูงผีเสื้อที่แผ่วงกว้างออกไปโดยไม่มีจุดจบ ผู้อาวุโสท่านหนึ่งในชุมชนได้เปรียบเทียบการทำลายทรัพยากรของเรืออวนรุนว่าเหมือนกับรถแทรกเตอร์
โดยอธิบายว่า สมมุติว่ามีภูเขา ๑ ลูก ถ้าใช้คนไปขุดกับจอบใช้เวลาหลายปีก็ไม่หมด แต่ถ้าใช้รถแทรกเตอร์มาขุดจะใช้เวลาไม่ถึงเดือน ภูเขาทั้งลูกก็ถูกขุดจนราบเรียบ
|