homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 
พฤติกรรมและการสืบพันธุ์ของพะยูน

พฤติกรรมของพะยูน

พะยูนจะมีการรวมเป็นฝูงและอยู่เป็นโดดเดี่ยวทั้งเมื่อน้ำขึ้นและน้ำลง มีการรวมเป็นฝูง ฝูงละ 2-3 ตัว และอาจจะพบพะยูนเป็นฝูงใหญ่ และมีลูกพะยูนอยู่ด้วย ซึ่งในปัจจุบันจะพบพะยูนมากที่สุด คือ ประเทศออสเตรเลีย
เรื่องของอาหารจากการสำรวจแหล่งหญ้าทะเลและได้สังเกตพฤติกรรมของพะยูน ที่เกาะตะลิบง จ.ตรัง พบว่าพะยูนจะเริ่มเข้ามาหากินหญ้าทะเลในช่วงที่น้ำทะเลกำลังขึ้น และกินหญ้าทะเลอยู่นานราว 2-3 ชั่วโมง พะยูนจะกินหญ้าทะเลพร้อมทั้งขึ้นมาหายใจทุกๆ 1-2 นาที และจึงดำลงไปกินหญ้าทะเลต่อ บางตัวจะกินหญ้าทะเลต่อในบริเวณใกล้ๆ ที่เดิม ในขณะที่บางตัวจะว่ายน้ำเปลี่ยนที่ไปประมาณ 1-5 เมตร โดยที่ลักษณะทิศทางการกินหญ้าทะเลของพะยูนไม่แน่นอน มีทั้งการหันด้านหัวสู่ชายฝั่ง หันหัวออกทะเล ลำตัวขนานกับชายฝั่ง หรือลำตัวทำมุมเฉียงกับชายหาด ซึ่งพะยูนส่วนใหญ่ที่พบจะกินหญ้าทะเลอยู่ห่างจากชายฝั่งมากกว่า 1 กิโลเมตร ในขณะที่น้ำลงมากพะยูนจะไปอาศัยอยู่ในร่องน้ำห่างชายฝั่งประมาณ 4-5 กิโลเมตร(สังเกตพบเห็นพะยูนอยู่ในร่องน้ำหลังน้ำลงประมาณ 2 ชั่วโมง) ซึ่งสอดคล้องกับกับงานของสุวรรณและคณะ(2536)

โดยพะยูนอาจจะกินหญ้าทะเลในช่วงน้ำขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน โดยที่พะยูนที่เกาะปาเลาส่วนใหญ่จะเข้ามากินหญ้าทะเลในตอนกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงจากอันตรายจากคนและสิ่งแวดล้อมอย่างอื่น สำหรับตอนเหนือของรัฐควีนแลนด์ประเทศออสเตรเลียพบว่าพะยูนจะเข้ามากินหญ้าทะเลในตอนกลางวัน ซึ่งจะกินหญ้าทะเลวันละประมาณ 30 กิโลกรัม แต่บางตำราระบุว่า กินอาหารประมาณวันละ 8 กิโลกรัม โดยใช้ปากเล็มหรืองับทั้งต้นพืชแล้วส่ายล้างสิ่งเกาะติดอื่นๆ แล้วกลืนทันทีโดยไม่เคี้ยว พะยูนอาจจะอาศัยประจำถิ่น หรือเคลื่อนย้ายถิ่นตามฤดูกาล (กาญจนา อดุลยานุโกศล และคณะ, 2540)
พะยูนระหว่างแม่กับลูกนั้นมีความสัมพันธ์กันมาก จะพบว่าแม่และลูกพะยูนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก ทั้งในขณะหากินและในขณะที่ว่ายน้ำ ลูกพะยูนและแม่จะว่ายน้ำหากินอยู่ใกล้ๆ กัน บางครั้งอาจจะห่างกันแต่จะอยู่ในรัศมีประมาณ 1 เมตร ขณะที่ขึ้นมาหายใจพร้อมกันลูกพะยูนจะอยู่ชิดช้างลำตัวแม่ หรืออยู่บนหลังของแม่ และขณะที่กำลังว่ายน้ำออกจากแหล่งหญ้าทะเลก็จะว่ายอยู่เคียงกันตลอด จากการติดตามสังเกตพฤติกรรมการกินหญ้าทะเลของแม่และลูกพะยูน พบว่าลูกพะยูนจะโผล่ขึ้นมาหายใจบ่อยกว่าแม่พะยูน โดยในขณะที่แม่พะยูนกำลังกินหญ้าทะเลอยู่ ลูกพะยูนโผล่ขึ้นมาหายใจ 2-3 ครั้ง แล้วแม่พะยูนจึงโผล่ขึ้นมาหายใจครั้งหนึ่ง

การสืบพันธุ์ของพะยูน

พะยูนไม่ได้ผสมพันธุ์ตามฤดูกาล จะมีการตั้งท้องนาน 13-15เดือน(บางตำราระบุว่าใช้เวลาประมาณ 385-400 วัน) จะมีการออกลูกครั้งละ 1 ตัว (บางตำราระบุว่ามีการออกลูกได้ถึงครั้งละ 2 ตัวได้ แต่มีน้อยมาก) มีลูกหนักเฉลี่ยประมาณ 20 กิโลกรัม(วารสารการประมง น้ำหนักแรกประมาณ 20-35 กิโลกรัม)โดยที่พะยูนเกิดใหม่จะมีน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม โดยตัวแม่จะมีการดันลูกให้ขึ้นสู่ผิวน้ำทันที แล้วชะลอลูกไว้บนหลังในช่วงแรกๆ หลังคลอดเพื่อหัดให้ลูกหายใจและวายน้ำ โดยจะค่อยๆจมตัวเองและลอยขึ้นเป็นจังหวะ

โดยลูกจะดูดนมแม่ใต้น้ำตัวผู้จะไม่ช่วยในการเลี้ยงลูก โดยลูกจะหย่านมแม่หลังจากอายุ 1 ปีไปแล้ว มีความยาวแรกเกิดประมาณ 1.0-1.2 เมตร และพะยูนอายุ 1 ปี จะมีความยาวประมาณ 1.8เมตร(จากการศึกษาพะยูนที่ประเทศออสเตรเลีย) เมื่อมีศัตรูลูกอ่อนจะว่ายน้ำหลบอยู่บนหลังของแม่ ช่วงอายุในการสืบพันธุ์ยังไม่แน่ชัด (บางตำราระบุว่ากว่าจะแพร่ขยายพันธุ์ได้จะต้องอายุประมาณ 9 ปีขึ้นไป) และจากการสำรวจคาดว่าฤดูกาลการคลอดลูกของพะยูนอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม สำหรับการศึกษาถึงฤดูกาลคลอดลูกของพะยูน ในประเทศออสเตรเลียพบว่าจะอยู่ระหว่าง เดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมและกว่าแม่พะยูนจะมีลูกได้อีกจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จะมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 45-70 ปี(กรณีที่อายุยืนยาวตามธรรมชาติ)

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: