อวนลาก(TRAWLS)
หลังจากที่รัฐบาลไทยในอดีตได้เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การประมงไทยก็ได้เริ่มพัฒนาขึ้น มีการนำเอาเครื่องมืออวนลากหน้าดินแบบแผ่นตะเฆ่เข้ามาทดลองใช้ในน่านน้ำไทย และได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก รัฐฯจึงให้การสนับสนุนการทำประมงอวนลากแก่เอกชน กองเรือประมงไทยภายใต้ระบอบการทำประมงแบบเสรีจึงเริ่มขึ้นสำแดงเดชในคาบสมุทรมาลายูและบริเวณใกล้เคียง
อวนลากแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1. อวนลากเดี่ยว หรืออวนลาก (OTTER - BOARD TRAWLS)
มีลักษณะเหมือนกับเครื่องมืออวนลากเรือสองลำหรือเรือลากคู่ คือเป็นอวนมีถุงประกอบกัน ใช้เรือยนต์เพียงลำเดียวทำการลากสัตว์น้ำในระดับต่างๆ ได้ผลดี อวนจะกางออกกวาดสัตว์น้ำ โดยมีแผ่นกระดานน้ำซึ่งเรียกว่า แผ่นตะเฆ่ ทำหน้าที่ให้ปากอวนขยายออกไป เรือชนิดนี้สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี ทำได้ทั้งกลางวัน กลางคืน นิยมลากตามน้ำและทวนน้ำ ชาวประมงจะนำอวนลากแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือ เมื่อถึงแหล่งทำการประมงก็จะปล่อยอวนลงน้ำพร้อมทั้งแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือโดยบังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ จากนั้นค่อยๆ ผ่อนสายลากลงน้ำไปเรื่อยๆ แผ่นตะเฆ่จะต้านน้ำซึ่งทำให้อวนกางออกรับเนื้อที่จับปลาได้มากขึ้น การปล่อยอวนจะมีหัวหน้าชาวประมงที่เรียกว่า "คนนำลาก" เป็นคนควบคุม เมื่อปล่อยสายลากประมาณ 3 - 5 เท่าความลึกของน้ำ เมื่อปล่อยสายลากจนได้ระยะตามต้องการแล้วก็จะบังคับให้เรือเร่งเครื่องยนต์เดินหน้า ลากอวนไปประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ก็จะทำการกว้านอวนขึ้นเรือด้วยเครื่องกว้านเครื่องยนต์ โดยบังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ เพื่อทำการจับสัตว์น้ำที่ตกขังอยู่ที่ก้นถุง สัตว์น้ำที่จับได้แบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ
(1) ปลาเลยหมายถึงสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาสาก ปลาปากคม ปลาตาโต ปลากะพง ปลาจาระเม็ด กุ้ง และหมึกต่างๆ ฯลฯ
(2) ปลาเป็ดหมายถึงสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อยไม่ใช้บริโภค ได้แก่ ปลาแป้น ปลาอมไข่ ปลาวัว ปลาสลิดหิน และปลาต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก
2. อวนลากคู่ (PAIR TRAWLS NET)
เป็นเครื่องมือที่ชาวญี่ปุ่นนำเข้ามาในประเทศไทย ลักษณะของเครื่องมือนั้นเป็นอวนมีถุงกับปีกประกอบกัน ขนาดของตาอวนนั้นถี่ ปีกนั้นทำหน้าที่กันสัตว์น้ำให้ลงสู่ตัวอวน ถุงทำหน้าที่จับสัตว์น้ำ ใช้ทำการลากจับสัตว์น้ำ หน้าดินด้วยเรือยนต์ 2 ลำ ขนาดเท่ากัน แต่ละลำตอนหัวเรือมีเครื่องกว้านสำหรับดึงและยกอวน และใช้เป็นที่เก็บสายลากอีกด้วย มีห้องเก็บปลาประมาณ 5 - 6 ห้อง ตอนกลางลำเรือมีเครื่องกว้านรูปทรงกระบอกสั้นเว้า ติดอยู่ 2 ข้างลำเรือ ใช้กำลังหมุนจากเครื่องจักรใหญ่ ส่วนตอนท้ายเรือทำเป็นลานเรียบออกไปเล็กน้อย และมีรอกรองรับสายลวดติดอยู่ทั้งสองข้าง สำหรับเรือบางลำที่มีขนาดเล็กบนหลังคาท้ายเรือก็จะมีเครื่องกว้านติดอยู่ ใช้ซ่อมดึงและเก็บอวน ใช้ชาวประมงลำละ 6 - 7 คน คนเรือ 3 คน สถานที่ทำการประมงบริเวณชายฝั่งทะเลทั่วไป ความลึก 10 - 50 เมตร พื้นที่ท้องทะเลเป็นโคลนเหลวหรือโคลนเหลวปนทราย ทำการประมงได้ ตลอดปี
เครื่องมืออวนลากคู่นิยมใช้ทำการประมงในเวลากลางวัน นิยมลากตามน้ำหรือลากทวนน้ำ เมื่อถึงที่ๆ ต้องการทำการประมงแล้ว จะปล่อยอวนลากลงจากลำใดลำหนึ่งแล้วทำการปล่อยเชือกนั้น มีความยาวสุดแท้แต่ความลึก ของน้ำ ส่วนเรือทั้งสองลำจะแยกออกจากกันให้ได้มากที่สุด
เพื่อให้ปีกอวนกางขยายออกให้มากซึ่งปีกนั้นจะทำหน้าที่กางกั้นปลาให้วิ่งเข้าสู่ตัวอวน ทุ่นที่ผูกติดอยู่ข้างบนจะทำให้อวนส่วนบนลอยน้ำ ทำให้อวนกางออก เป็นรูปถุงปากกว้างกวาดจับปลาที่อาศัยอยู่ก้นทะเล เมื่อปล่อยสายลากไปได้สักระยะหนึ่งตามต้องการแล้ว ก็บังคับให้เรือเร่งเครื่องยนต์เดินหน้าลากอวนไป เมื่อลากอวนไปประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงแล้ว ก็กว้านอวนขึ้นด้วย เครื่องกว้านเครื่องยนต์ โดยจะบังคับให้เรือเดินหน้าหมดและหันเรือเข้าหากัน เมื่อกว้านจนถึงปลายเรือทั้งสองลำก็จะมาบรรจบกันพอดี หลังจากนั้นจึงยกก้นถุงอวนขึ้นมาบนเรือด้วยเครื่องกว้านหัวเรือนำสัตว์น้ำที่ได้ออก จากถุง สัตว์น้ำที่จับได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1) ปลาเลย หมายถึง สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้แก่หมึก ปลาทรายแดง ปลาสาก ปลาปากคม ปลากดทะเล ปลาจะละเม็ด ปลาลิ้นหมา ปลากด ปลาริวกิว ปลากะพง และกุ้งเป็นต้น
(2) ปลาเป็ด หมายถึง สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อยได้แก่ ปลาอมไข่ ปลาแป้น และลูกปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก เป็นต้น
3. อวนลากคานถ่าง (BEAM TRAWLS)
มีลักษณะเหมือนกับอวนลากเดียวทั่วๆ ไป แต่เรือที่ใช้มีขนาดเล็กเป็นเรือหางยาวเครื่องยนต์ประมาณ 8 - 10 แรงม้า ขนาดของปากอวนกว้างประมาณ 3.50 - 4.00 เมตร ยาว 5.00 เมตร ขนาดของตาอวนก้นถุง (ตาเหยียด) 1.6 เซนติเมตร จำนวน 2 ปาก ต่ละปากมีตุ้มถ่วงน้ำหนักทำจากซีเมนต์หล่อขนาด 15 - 18 กิโลกรัม ปากละ 2 ลูก เพื่อช่วยให้อวนจม ตอนปลายของปากอวนจะมีสกีไม้ความยาว 10 นิ้ว ผูกติดอยู่เพื่อให้ความ สูงของปากอวนอยู่ในระดับคงที่ ตอนคร่าวล่างของอวนจะถ่วงด้วยตะกั่วตลอดแนวเพื่อให้อวนจม ความกว้างของปากอวนแต่ละปากจะถูกถ่วงด้วยแป๊ปน้ำความยาวประมาณ 1.2 เมตร ซึ่งแป๊ปน้ำนี้จะผูกยึดกับคานไม้ ซึ่งยื่นออกมาจากสองข้างของเรือ เพื่อช่วยให้ระยะห่างระหว่างอวนทั้ง 2 ปากอยู่อย่างเหมาะสมไม่ใกล้ชิดกันมากนัก เครื่องมือนี้ใช้ทำการประมงบริเวณชายทะเลน้ำตื้น
นิยมใช้เครื่องมือนี้ทำการประมงทั้งในเวสากลางวันและกลางคืน นิยมลากตามน้ำและทวนน้ำ เมื่อถึงแหล่งทำการประมงชาวประมงจะกางคันถ่างออกทั้งสองข้างของลำเรือ โดยใช้บังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ พร้อมกับ ปล่อยอวนลงไปพร้อมกันทั้งสองปาก จากนั้นค่อยๆ ปล่อยเชือกลงไปเรื่อยๆ การลากนั้นใช้ระดับความยาวของสายลาก 3 - ค เท่าของความลึกของน้ำ เมื่อปล่อยสายลากตามที่ต้องการก็บังคับให้เรือเดินหน้าลากอวนต่อไป ทำการลากอวนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ก็หยุดเรือดึงคานถ่างหมุนเข้าตัวเรือแล้วสาวเชือกอวนขึ้นเรือทีละปากเพื่อจับสัตว์น้ำแล้วจึงปล่อยอวนลากปลาต่อไป สัตว์น้ำที่จับได้เป็นกุ้ง ปู และหอย สำหรับปลานั้นเกือบจะไม่พบ เลยเนื่องจากการลากอวนน้อยมาก แต่ก็ทำลายล้างทรัพยากรทะเลได้ไม่น้อยเช่นกัน
4. อวนลากแคระ (TRAWLS)
ลักษณะจะคล้ายๆ เรืออวนลาก แต่ขนาดเล็กกว่า และทำการประมงโดยอาศัยกุ้งเป็นหลักส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 7 - 18 เมตร มักมีกางเขน ซึ่งเป็นไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้างของกราบเรือและมีแผ่นตะเฆ่ด้วย
วีธีการทำประมงจะคล้ายเรืออวนลากเดียว เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น แต่ทว่าการทำลายล้างมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
จากสถิติการประมงในปี พ.ศ.๒๕๐๔ เรืออวนลากสามารถจับสัตว์น้ำได้ในอัตราเฉลี่ย ๒๙๗.๖ กก. ต่อการลาก ๑ ชม. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจับของเครื่องมืออวนลาก และความสมบูรณ์ของทรัพยากร ประมงในทะเลไทยในอดีต ในปี ๒๕๒๘ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เฉลี่ยลดลงเหลือ ๕๔ กก./ ชม. โดยเครื่องมือชนิดเดียวกัน และในปี ๒๕๔๑ ลดลงเหลือ ๗ กก./ ชม. เท่านั้น และปลาที่จับได้เป็นปลาเล็กปลาน้อยที่ไม่มี ราคา หากไม่คิดหาทางแก้ไขวิกฤตนี้แล้ว คาดกันว่าภายในปี ๒๕๔๖ จะเหลือปลาให้จับไม่เกิน ๑ กิโลกรัมต่อชั่วโมง จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นความเสื่อมโทรมของทะเลไทยเข้าสู่วิกฤตแล้ว
จากสถิติการประมงของกรมประมง แสดงให้เห็นสถานภาพของทรัพยากรประมงในน่านน้ำทะเลไทยเสื่อมโทรมลงผลผลิตที่ได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ การลดลงของทรัพยากรประมง ไม่ใช้เกิดจากการนำเอาสัตว์น้ำขึ้นมา ใช้มากเกินไปเท่านั้น แต่ยังมีการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรชายฝั่ง เช่น แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง และดอนหอย ยกตัวอย่างเช่น อวนลาก อวนรุน เรือไฟปั่นปลากะตัก ซึ่งวิธีการทำประมงดังกล่าวเป็น การทำลายระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสื่อมโทรมของทะเลไทยให้ทรุดหนักยิ่งขึ้น
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๓๘ ระบุว่ามีเรือประมงถึง ๕๐,๐๐๐ ลำ เป็นเรืออวนลากจำนวนครึ่งหนึ่งและมีขนาดตาอวนที่ถี่มากเกินไป สามารถจับสัตว์น้ำได้ทุกขนาด แม้ว่าจะเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก หรือ ลูกสัตว์น้ำที่ยังโตไม่ได้ขนาด ลักษณะเช่นนี้เป็นการทำประมงแบบนี้เป็นทำลายล้าง และใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าศักยภาพการผลิตของท้องทะเล ปัญหานี้เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากความ ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการใช้ทรัพยากรประมงระหว่างกลุ่มประมงพาณิชย์กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น |