homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 
เรืออวนล้อมจับปลากะตักกลางวัน (DAY ANCHOVY PURSE SEINER)

ลักษณะของเรือมี 2 ขนาดคือ

  1. เรือขนาดเล็กจะมีความยาว 7 - 16 เมตร ใช้คนประมาณ 5 - 14 คน เรือขนาดเล็กความยาวอวน 160 - 250 เมตร ขนาดของตาอวน 0.4 - 0.6 เซนติเมตร
  2. เรือขนาดใหญ่จะมีความยาว 20 - 22 เมตร ใช้คนประมาณ 30 คน เรือขนาดใหญ่ความยาว 250 - 400 เมตร ขนาดของตาอวน 0.8 เซนติเมตร ไม่ใช้เครื่องมือในการปั่นไฟ ใช้เครื่องมีลักษณะอวนล้อมจับแบบใช้สายมาน

เรืออวนล้อมปั่นไฟปลากะตัก (LIGHTED ANCHOVY PURSE SEINE)

ประกอบด้วย เรืออวน (เรือแม่) 1 ลำ และเรือปั่นไฟ 1- 3 ลำส่วนใหญ่ 2 ลำทำหน้าที่ปั่นไฟล่อสัตว์น้ำ ความยาวเรืออวน 16 - 24 เมตร เรือปั่นไฟความยาว 9 - 14 เมตร ใช้กำลังไฟขนาด 15 - 20 กิโลวัตต์/ลำ จำนวนคน 20 - 30 คน เรือทุกลำมีเครื่องเอคโค ซาวเดอร์ ช่วยค้นหาฝูงปลา บางลำมีโซน่าร์ ใช้อวนล้อมจับแบบใช้สายมานความยาวอวน 250 - 500 เมตร ลึก 50 - 80 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ขนาดของตาอวน 0.7 - 0.8 เซนติเมตร ส่วนใหญ่ทำการประมงในน้ำลึก 20 - 45 เมตร (ฝั่งอ่าวไทย) และลึก 20 - 80 เมตร (ฝั่งอันดามัน) จะทำการประมงในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ถึงพระอาทิตย์ขึ้น เริ่มจากเรืออวนแล่นเรือค้นหาฝูงปลา ในช่วงเย็น ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อพบฝูงปลาจะให้เรือปั่นไฟทั้งสองลำ ซึ่งแล่นตามมาแยกย้ายกัน ทอดสมอตรงจุดที่พบฝูงปลากะตัก และเปิดไฟล่อสัตว์น้ำ รอเวลาให้กระแสน้ำหยุดไหล จึงจะทำการจับสัตว์น้ำ ที่ตอมแสงไฟของเรือปั่นไฟทีละลำ จำนวนวันที่ออกทำการประมง เริ่มตั้งแต่ แรม 5 ค่ำ ถึง 12 ค่ำ หรือ 22 - 23 วัน / เดือน วางอวน 2 - 3 ครั้ง / คืน จังหวัดที่พบมากคือ ตราด ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา สตูล กระบี่ สงขลา

อวนช้อนปลากะตักปั่นไฟ

ลักษณะของเรือมีความยาว 7 - 8 เมตร ส่วนใหญ่ 10 - 14 เมตร ใช้กำลังไฟขนาด 5 - 25 กิโลวัตต์ จำนวนคน 3 - 6 คน ส่วนใหญ่มีเครื่องหาฝูงปลาแบบ เอคโค ซาวเดอร์ เครื่องมืออวนช้อนปลากะตัก ความยาวอวน เท่ากับความยาวอวน เท่ากับความยาวเรือ ความลึกอวน 10 - 16 เมตร มุมอวนทั้งสองมีตะกั่วถ่วง และเชือกฉุดอวน ขนาดตาอวน 0.8 เซนติเมตร ทุกลำจะมีแหยักษ์สำหรับใช้จับหมึก โดยใช้ตามความชุกชุมของสัตว์น้ำ แหล่งทำการประมง ส่วนใหญ่น้ำลึก 20 - 45 เมตร จะทำการประมงในเวลากลางคืน เริ่มจากเรือแล่นค้นหาฝูงปลากะตักด้วยเครื่องเอคโค ซาวเดอร์ ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน จนกระทั่งพบฝูงปลากะตัก จึงทำการปั่นไฟ ซึ่งอาจทอดสมอ หรือปล่อยอวนลอยถ่วงหัวเรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง รอจนกระทั่งมีฝูงปลากะตักปรากฏหนาแน่นที่จอเครื่อง เอคโค ซาวเดอร์ โดยปิดไฟทุกดวงเหลือเพียงกลุ่มไฟสปอตไลท์กลางลำด้านที่มีเครื่องมืออวน ทำการ หรี่ - เร่ง - หรี่ไฟ สลับกัน เพื่อทำให้ปลากะตักอยู่บริเวณผิวน้ำ ภายในรัศมีการทำงานของผืนอวนเมื่อเห็นว่าปลากะตักไม่ขึ้นมา มากกว่านี้อีกแล้ว จึงทำการช้อนปลากะตัก โดยฉุดเชือกผูกหัวมุมอวนขึ้นเรือด้วยกว้าน กู้อวนและ ตักปลาใส่เรือ คืนหนึ่งทำซ้ำได้หลายครั้งส่วนใหญ่ 5 - 10 ครั้ง และมีการย้ายแหล่งจับ 2 - 4 แห่ง/คืน จำนวนวันออกทำ การประมง 22 - 23 / เดือน จังหวัดที่พบเห็นเรือชนิดนี้คือ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล พังงา ระนอง

อวนครอบปลากะตักปั่นไฟ

ลักษณะของเรือชนิดนี้ มีความยาว 7 - 16 เมตร แต่ส่วนใหญ่ 10 - 14 เมตร ใช้กำลังไฟขนาด 5 - 30 กิโลวัตต์ และมีเครื่องหาฝูงปลาแบบ เอคโค ซาวเดอร์ เครื่องมือที่ใช้คือ อวนครอบ หรืออวนมุ้ง ลักษณะของอวนรูปกล่องสี่เหลี่ยมเปิดด้านบนและด้านล่างความยาวอวนใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับความยาวเรือ หรือ 7 - 16 เมตร ความลึกอวนขึ้นอยู่กับขนาดเรือ หรือ 18 - 30 เมตร ขนาดตาอวน 0.5 เซนติเมตร ขอบล่างสุดผืนอวน มีตะกั่ว และห่วงโลหะวงแหวนผูกเป็นระยะโดยรอบคิดเป็นน้ำหนักรวมกัน 70 - 120 กิโลกรัม และมีเชือกร้อยผ่านห่วงทุกห่วง ปลายเชือกที่เหลืออยู่บนเรือใช้ สำหรับซักรวบปิดทางออกสัตว์น้ำด้านล่างสุดของผืนอวน จะทำการประมงในแหล่งน้ำลึก 5 - 30 เมตร วิธีการทำการประมง เริ่มจากเรือแล่นค้นหาฝูงปลากะตักด้วยเครื่องเอคโค ซาวเดอร์ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน จนกระทั่งพบฝูงปลาจึงทำการทอดสมอเรือและปั่นไฟล่อสัตว์น้ำ เมื่อเห็นว่าปลากะตักรวมกันมากพอแล้วจึงทำการจับปลากะตัก โดยเตรียมรั้งอวนทั้งสี่ด้านไว้ที่ผิวน้ำ ปิดไฟทุกดวง เหลือเฉพาะกลุ่มไฟสปอตไลท์กลางลำ ด้านที่มีเครื่องมืออวนทำการหรี่ไฟ เร่งไฟ และหรี่ไฟ สลับกันจนกระทั่งเห็นว่าเหมาะสม จึงปล่อยอวนลงไปครอบฝูงปลาที่อยู่บริเวณแสงไฟ แล้วรีบกว้านเชือกที่ร้อยผ่านห่วงปิดด้านล่างของผืนอวนทันที เพื่อไม่ให้สัตว์น้ำหนีออกได้ กู้อวนและตักปลาใส่เรือ ทำซ้ำใหม่ หรือย้ายแหล่ง จับคืนหนึ่งส่วนใหญ่ครอบสัตว์น้ำ 5 - 10 ครั้ง จำนวนวันที่ออกทำการประมง 22 - 23 วัน/เดือน

จังหวัดที่เรือชนิดนี้ทำการประมง คือ ตราด ระยอง จันทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: