homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 

ปะการัง (Coral)

ปะการังคืออะไร

ปะการังมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นก้อนหินบ้างเป็นพืชบ้าง น้อยคนนักที่จะคิดว่าปะการังเป็นสัตว์ ถ้าดูจากรูปร่างภายนอกที่มีความหลากหลายแล้วก็คงต้องคิดอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในทะเล มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูนที่ตัวปะการังสามารถ สร้างขึ้นได้เองโดยอาศัยแคลเซียมจากน้ำทะเล *สิ่งมีชีวิตที่น่าพิศวง?* ใครจะรู้บ้างว่าซากปะการังซึ่งเป็นหินปูนก้อนหนึ่งที่เรา พบตามชายทะเลนั้นก่อกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นับล้านตัวด้วยเวลาอันยาวนาน เราเรียกว่า "ปะการัง" ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอยู่ในกลุ่มของไดนาเรีย ซึ่งเคยเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าซิเลนเทดเรท มีอยู่บางชนิดที่เป็นตัวเดียวแต่มีขนาดใหญ่ เช่นปะการังดอกเห็ดบางชนิด หินปูนซึ่งเป็นโครงสร้างแข็งนั้นมีตัวปะการังเรียกว่า โพลิป (polyp) เป็นผู้สร้างขึ้น โพลิปนั้นมี ลักษณะอ่อนนุ่มค่อนข้างโปร่งใส รูปร่างเป็นทรงกระบอกปลายล่างตันด้านบนมีปากอยู่ตรงกลาง และมีหนวดเรียงรายอยู่โดยรอบ เป็นจำนวน 6 หรืออนุกรม 6 ที่หนวดนี้มีเซลล์สำหรับต่อยเพื่อให้ปะการังป้องกันตนเอง และหาอาหาร
ปะการังหาอาหารกินด้วยการจับเหยื่อตัวเล็กๆ ที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำ โดยปล่อยเข็มพิษออกมาจากเซลล์สำหรับต่อยในเวลากลางคืนปะการังจะแผ่ขยายหนวดควานหาเหยื่อและใช้เข็มพิษจับเหยื่อเป็นอาหาร จากเหตุนี้ทำให้ลักษณะที่ปรากฎของปะการังในตอนกลางวันต่างจากลักษณะของปะการังกลางคืนค่อนข้างมาก

การสืบพันธุ์ของปะการัง

ปะการังมีการสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ

  1. แบบอาศัยเพศ วิธีนี้ปะการังส่วนใหญ่ที่เป็นตัวๆ มากมายประกอบกันเป็นโคโลนีนั้น เมื่อโตเต็มที่แล้วก็จะปล่อยไข่หรือสเปิร์มของตัวมันออกมา บางชนิดในโคโลนีเดียวกันจะมีทั้งสองเพศคือ ปล่อยมาทั้งสเปิร์มและไข่ สเปิร์มและไข่ของปะการังเมื่อออกมาแล้ว จะผสมกันเป็นตัวอ่อน เรียกว่า พลานูลา (Planula) เป็นที่น่าสนใจว่าการผสมพันธุ์ของปะการังด้วย วิธีนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในทะเล สำหรับเมืองไทยอยู่ในระยะเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งตัวอ่อนเหล่านี้จะขึ้นมาลอยอยู่ในน้ำทะเลเต็มไปหมด จนบางครั้งเข้าใจผิดว่าเป็นการเพิ่มจำนวนของแพลงตอนพืช ลุกปะการังตัวเล็กๆ จะล่องลอยไปตามกระแสน้ำอยู่ในช่วงระยะเวลา หนึ่งจนกระทั่งเจอพื้นที่ๆ เหมาะสม จะลงเกาะกับวัตถุที่แข็ง เช่นก้อนหิน หรือซากปะการัง จากนั้นปะการังก็จะเริ่มสร้างโครงสร้างแข็ง ที่เป็นหินปูนขึ้นมาเป็นโครงร่าง
  2. แบบไม่อาศัยเพศ นั่นคือ ปะการังจะแตกหน่อออกไปเรื่อยๆ ขยายออกไปตามลักษณะของปะการังแต่ละชนิด ทำให้โคโลนีใหญ่ขึ้น ปะการังถ้าถูกทำลายจะต้องใช่การ ฟื้นตัวนานเท่าใด? นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาอัตราการเติบโตของปะการัง โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ ทั้งการวัดโดยตรง การย้อมสี รวมไปถึงการใช้กัมมันตรังสี ซึ่งทำให้วัดอัตราการเติบโตของปะการังแต่ละชนิดได้ โดยทั่วๆ ไปปะการังแผ่นและปะการังกิ่งจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็วกว่าอย่างอื่น อาทิ ปะการังเขากวางบางชนิดจะเจริญเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 10 เซนติเมตรต่อปี ในขณะที่ปะการังก้อนอัตราเติบโตเฉลี่ยจะมีเพียงประมาณ 1 - 2 เซนติเมตรต่อปีเท่านั้น ดังนั้นไม่ใช้เรื่องง่ายที่ปะการังถูกทำลายแล้วจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ลักษณะของปะการัง

เนื่องจากปะการังมีรูปร่างหลากหลายและมีร่วม 1,000 ชนิด บางชนิดก็กลับมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามบริเวณที่อยู่อาศัยด้วย จึงนับเป็นการยากที่จะรู้จักชื่อปะการัง ยกเว้นการศึกษาอย่างจริงจัง ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการรู้จักปะการังในขั้นต้น โดยสามารถแบ่งตามลักษณะที่เห็นออกได้เป็น 7 กลุ่มคือ

  1. ปะการังก้อน (Massive Coral) มีลักษณะเป็นก้อนตันคล้ายก้อนหิน เช่น ปะการังสมอง
  2. ปะการังกึ่งก้อน (Submassive Coral) มีลักษณะเป็นแท่งรวมกันเป็นกระจุกโดยไม่ได้ติดเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด
  3. ปะการังเคลือบ (Encrusting Coral) มีลักษณะเติบโตขยายคลุมไปตามลักษณะของพื้นผิวที่มันห่อหุ้มอยู่
  4. ปะการังกิ่งก้าน (Branching Coral) มีลักษณะเป็นกิ่งก้านแตกแขนง
  5. ปะการังกลีบซ้อน (Foliaceous Coral) มีลักษณะเป็นแผ่นรวมกันเป็นกระจุกแบบใบไม้หรือผัก
  6. ปะการังแผ่น (Tabulate Coral) มีลักษณะที่ขยายออกในแนวราบคล้ายโต๊ะอาจซ้อนกันเป็นชั้นๆ
  7. ปะการังเห็ด (Mushroom Coral) มีลักษณะเป็นปะการังก้อนเดี่ยวๆ

นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีสัตว์ 2 ประเภทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง แต่มีลักษณะภายนอกคล้ายปะการังมาก คือ ปะการังสีน้ำเงิน (Blue coral) ซึ่งในสภาพธรรมชาติขณะมีชีวิตอยู่จะมีสีเทา แต่เมื่อตายแล้วจะเห็นชัดว่าเป็นปะการังทั้งก้อน อีกประเภทหนึ่งคือ ปะการังไฟ (Fire coral) พวกนี้มีสีน้ำตาลเหลือง เมื่อไปสัมผัสโดนกับพวกนี้แล้วจะถูกเข็มพิษ ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าปะการัง ทำให้เกิดอาการแพ้ได้

รูปแบบและการแพร่กระจายของปะการังในประเทศไทย

  1. กลุ่มปะการัง (Coral Community) เป็นบริเวณที่มีก้อนปะการังกระจายอยู่ตามพื้น จะไม่พบหินปูนที่เกิดจากการสะสมทับถมกันของปะการังได้เด่นชัด ความลาดชันของพื้นเป็นไปตามลักษณะของชายฝั่ง มิใช่เกิดจากการสร้างแนวปะการังการแพร่กระจายของปะการังจึงเป็นไปตามลักษณะฝั่ง จะพบกลุ่มปะการังในบริเวณที่มีพื้นแข็ง เช่น บริเวณที่มีโขดหิน บริเวณข้างเกาะเป็นต้น
  2. แนวปะการัง (Coral Reef) บริเวณนี้จะเห็นการสะสมตัวของหินปูนที่เกิดจากปะการัง ซึ่งตายทับถมอยู่ด้านล่างของปะการังมีชีวิตชัดเจน โดยทั่วไปแนวปะการังนี้มักจะอยู่ห่างจากชายฝั่งออกมา โดยมีชายหาดด้านในเป็นพื้นทราย ถัดออกมาก็จะพบแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีปะการังอยู่ประปรายในบริเวณที่น้ำไม่ลึกนัก เรียกว่า Reef Flat เวลาน้ำลงมากๆ ปะการังจะโผล่เหนือน้ำเล็กน้อยเป็นสาเหตุที่ด้านบนผิวหน้าของปะการังจะตายแล้วจึงมาถึงแนวปะการัง ซึ่งมีปะการังขึ้นทับถมกันมากมาย เป็นบริเวณที่มีพลังงานหมุนเวียนมากเพราะในบริเวณนี้จัดได้ว่าเป็นบริเวณปะทะคลื่น (Wave Front)

ลักษณะต่างๆ ของปะการังในประเทศไทย

อ่าวไทยฝั่งตะวันออก

  • จังหวัดตราด พบที่หมู่เกาะช้าง หมู่เกาะหมาก และหมู่เกาะกูด เป็นบริเวณที่เห็นความเป็นแนวปะการังชัดเจน มีหลายบริเวณที่ปะการังงดงามและหลากหลายมาก จัดเป็นบริเวณที่มีแนวปะการังที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
  • จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากมีแม่น้ำเวฬุเปิดออกบริเวณจังหวัดนี้ จึงทำให้มีป่าชายเลนขนาดใหญ่ จากการที่น้ำจืดและตะกอนลงมามาก ปะการังที่มีอยู่จึงไม่น่าสนใจเท่าใด
  • จังหวัดระยอง พบที่หมู่เกาะเสม็ด หมู่เกาะกุฏี และหมู่เกาะมัน ปะการังที่พบในบริเวณนี้เริ่มเห็นการสร้างแนวปะการังจึงมีการซ้อนอยู่เป็นชั้นๆ มีความหลากหลายและเติบโตดี
  • จังหวัดชลบุรี พบปะการังที่หมู่เกาะสีชังเป็นเกาะแรก หมู่เกาะไผ่ หมู่เกาะล้าน และหมู่เกาะคราม ปะการังในบริเวณสีชังอันเป็นอ่าวไทยตอนในจะมีลักษณะเป็นเพียงกลุ่มปะการังเท่านั้น เมื่อเลยออกไปไกลจากอ่าวไทยตอนในได้แก่ หมู่เกาะครามจะมีความหลากหลายและการเจริญของปะการังดีกว่าตอนในของอ่าว

อ่าวไทยฝั่งตะวันตก

  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีแนวปะการังพัฒนาดีมาก บางบริเวณสวยงาม บางแห่งทับถมของปะการังทำให้ตื้นขึ้นมาเป็นเกาะเล็กๆ ปะการังพบที่หมู่เกาะเต่า หมู่เกาะพะงัน หมู่เกาะสมุย หมู่เกาะแตน และหมู่เกาะอ่างทอง
  • จังหวัดชุมพร ปะการังมีการทับถมกันจนเป็นแนวปะการังแล้ว มีการเจริญของปะการังดี ปะการังพบที่หมู่เกาะจระเข้ หมู่เกาะง่าม เกาะไข่ เกาะทะลุ หมู่เกาะมาตรา หมู่เกาะมัดหวาย และหมู่เกาะค้างเสือ
  • จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดแรกทางชายฝั่งด้านนี้ที่พบปะการัง ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่มของปะการังมากกว่าเป็นแนวปะการังที่หมู่เกาะเลื่อม เกาะจาน และเกาะทะลุ


ทะเลอันดามัน

  • จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดที่มีป่าชายเลนมาก ห่างจากฝั่งออกไปจึงจะมีปะการัง พบที่หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง - ราวี
  • จังหวัดตรัง อุดมไปด้วยป่าชายเลนและหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่ง การเติบโตของปะการังที่ค่อนข้างดีนั้นพบที่หมู่เกาะไหง และหมู่เกาะรอก
  • จังหวัดกระบี่ บริเวณชายฝั่งมีป่าชายเลนและมีแม่น้ำ ต้องออกไปห่างฝังปะการังจึงจะดี พบได้ที่เกาะด้ามหอก หมู่เกาะพีพี และหมู่เกาะลันตา
  • จังหวัดภูเก็ต พบตามชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ส่วนทางชายฝั่งด้านตะวันออกมีป่าชายเลน และเป็นทรายปนเลน ต้องออกไปห่างภูเก็ค เช่นเกาะห้อง จึงพบแนวปะการังได้ ส่วนทางใต้เกาะภูเก็ตมีเกาะไม้ท่อน และหมู่เกาะราชา
  • จังหวัดพังงา ทางตะวันตก ห่างออกจากฝั่งออกไปมากมีหมู่เกาะอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งแต่ละเกาะมีแนวปะการังเจริญดีมาก เช่นหมู่เกาะสุรินทร์ เกาะตาชัย หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะยวง ทำให้เป็นที่สนใจของนักดำน้ำทั่วโลก ส่วนทางทิศใต้เป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ ทำให้ไม่พบแนวปะการัง
  • จังหวัดระนอง เป็นบริเวณที่มีแม่น้ำและป่าชายเลนกว้างขวาง การเติบโตของปะการังจึงไม่ดี แต่อย่างไรก็ตามห่างฝั่งออกไปก็สามารถพบปะการังได้เช่นกันที่หมู่เกาะกำ

สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง

  1. สาหร่าย
  2. ฟองน้ำ
  3. หญ้าทะเล
  4. ปะการังอ่อน
  5. กัลปังหา และพัดทะเล
  6. ดอกไม้ทะเล
  7. หนอนทะเล
  8. หอย
  9. สัตว์มีขาเป็นข้อ เช่น กุ้ง ปู
  10. สัตว์ที่มีผิวหนังเป็นปุ่ม เช่น หอยเม่น ปลาดาว ปลาดาวหมอน
  11. เพรียงหัวหอม
  12. ปลาต่างๆ เช่น ปลาผีเสื้อ ปลาสลิดหิน ปลาเก๋า ปลากะพง

ความสำคัญของปะการัง

แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่าและประโยชน์นานัปการ แต่มักถูกมองข้าม และไม่ค่อยจะได้รับความสำคัญ

  1. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์นานาชนิด ทั้งนี้เพราะลักษณะที่มีซอกมีโพรงอยู่ทั่วๆ ไปทำให้เหมาะต่อการหลบภัยเป็นที่อยู่และหาอาหารหลายชนิดมีค่าทางเศรษฐกิจสามารถที่จะจับมาใช้อย่างถูกวิธี การอนุรักษ์ได้ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา หลายชนิดเป็นที่นิยมในการบริโภค ตลอดไปจนถึงการสะสม ทำให้มีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
  2. แนวปะการังตามชายฝั่งมีส่วนในการช่วยลดความรุนแรง ของคลื่นที่กระทำต่อชายฝั่งได้ เมื่อคลื่นปะทะกับปะการังที่ขอบแนวปะการัง คลื่นจะแตกตัวทำให้ความรุนแรงที่กระทบหาดทรายลดลง ในหลายๆ แห่งซึ่งปะการังถูกทำลายไป ชายฝั่งทะเลจะถูกกัดเซาะและพังทลาย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
  3. แนวปะการังเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล เนื่องจากความสวยงาม ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต น้ำที่ใสสะอาดและองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้บริเวณแนวปะการังกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและดึงดูด นักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี และขณะนี้จำนวนนักดำน้ำกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย และต่างประเทศกำลังนิยมดำน้ำในประเทศไทยกันมากขึ้น
  4. ความสิ่งคัญของปะการังและสิ่งมีชีวิตในทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขกำลังขยายตัวอย่างมาก เพราะสามารถสกัดสารเคมีจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์กันได้นานัปการ เช่นทำครีมทาป้องกันแสง อัลตราไวโอเลตซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนัง การสกัดสารต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทดลองเกี่ยวกับโรคมะเร็ง การค้นหาสารเพื่อขับไล่ปลาฉลาม เป็นต้น
  5. นอกจากคุณค่าดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ปะการังยังมีคุณค่าในการทำให้เกิดทรายกับชายหาด โดยเกิดจากการสึกกร่อนแตกย่อยของโครงสร้างหินปูน โดยการกัดกร่อนจากสัตว์ทะเลบางชนิด และโดยคลื่น เป็นต้น


ปะการังถูกทำลายเนื่องจากสาเหตุใดบ้าง….?

  1. การจับสัตว์น้ำในแนวปะการัง เช่น
    1.1   เรืออวนรุน และเรืออวนลากที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขต 3,000 เมตร ซึ่งเป็นแหล่งปะการังซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการทำลาย ปะการังอย่างเดียวเท่านั้นยังเป็นการทำลาย ระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย และปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรงมาก
    1.2   การระเบิดปลา ส่งผลให้ปะการังหักพังแหลกสลายนี่ก็เป็นการทำลายปะการังอย่างรุนแรง เพราะปะการังจะหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โอกาสที่จะกลับมาเหมือนเดิมใช้เวลานานมาก
    1.3   การใช้สารเคมีเบื่อปลา จะทำให้สารเคมีที่ตกค้างทำลายปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จนตายหมด
  2. การท่องเที่ยว เกิดจากการที่นักท่องเที่ยวไปเดินหรือยืนบนปะการัง รวมทั้งการทิ้งสมอเรือที่นำนักท่องเที่ยวเข้าไป แม้ปัจจุบันจะมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งมีการผูกทุ่นเพื่อจอดเรือ แต่ยังมีเรือหลายลำที่ยังทิ้งสมอ ลงไป และการก่อสร้างชายฝั่งเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว จะมีผลกระทบอย่างมากหากสร้างลงไปบนปะการัง เช่นสร้างท่าเรือ ขุดลอกร่องน้ำเพื่อเอาเรือเข้า เป็นต้น
  3. การพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงชายฝั่ง การก่อสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในชายหาด ทำให้ทรายถูกพาเคลื่อนไป อาจไปทับถมปะการังได้ หรือก่อสร้างโดยเปิดหน้าดินออกทำให้เกิดการชะตะกอนลงไปในน้ำไปคลุมปะการัง ตายได้ การทิ้งของเสียและสิ่งปฏิกูลลงในบริเวณปะการัง ก็ทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศ เช่น สาหร่ายจะเกิดมากขึ้นปกคลุมปะการังให้ตายหมดเมื่อมีน้ำเสียทิ้งลงไป เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ
  4. การทำเหมืองแร่บริเวณใกล้เคียงแนวปะการัง ไม่ว่าบนบกหรือในทะเล น้ำล้างแร่นั้นมีตะกอนมากจะทำให้ปะการังตายได้
 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: